ทดสอบ MITSUBISHI ALL NEW TRITON L200 ผจญโค้งดอยอินทนนท์
ถือเป็นอีกหนึ่งทริปของการเดินทางที่ทำให้เรารู้จักความน่าใช้ของรถเพิ่มมากยิ่งขึ้น สำหรับการทดสอบรถกระบะมิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่ หรือ แอล 200 เจนเนอเรชั่นล่าสุดทีเผยโฉมไปเมื่อช่วงต้นไตรมาสก์ที่ 4 ของปีที่ผ่านมา แม้หลังจากที่มีการเปิดตัวจะมีการขับแบบ First Impression บ้างแล้วก็ยังเป็นการขับแบบ “สัมผัสแรก” แต่สำหรับครั้งนี้ น่าจะถือว่าเป็นบทพิสูจน์ที่แท้จริงของกระบะ ตัวแกร่ง เห็นได้จากเส้นทางของการทดสอบ ซึ่งถือว่าครั้งนี้ “ไม่ธรรมดา” และน่าสนใจอย่ายิ่ง
สำหรับเส้นทางคร่าวๆ นั้นถือว่ามีให้ลองกันครบรส ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางในเมืองที่มีรถติดของเมืองเชียงใหม่ แต่ก็อาจจะไม่มากมายนัก เส้นทางบนถนนไฮเวย์ ที่สามารถเรียกกำลังของการทดสอบความแรงของเครื่องยนต์ กับการทำงานของเกียร์ที่ได้ปรับมาใช้เป็น 6 สปีด รวมทั่งการขับในทางโค้งที่ช่วยให้เห็นสมรรถนะในการยึดเกาะถนนของช่วงล่างได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีเส้นทางฝุ่นให้ได้ลองขับกันแบบ “ครอสคันทรี่” ที่นอกเหนือจากจะขับสนุกแล้ว ยังมั่นใจจากการทำงานของระบบขับเคลื่อน และทคโนโลยีความปลอดภัยที่ใส่มาให้อย่าง “จัดเต็ม” อีกด้วย
ภายนอกดุดัน ลุยกัยเฉพาะในรุ่นขับสี่
MITSUBISHI ALL NEW TRITON L200 ในรุ่นที่เรามีโอกาสได้ทดลองขับกันนั้น จะเป็นรถรุ่น ดับเบิ้ลแคป ขับเคลื่อนสี่ล้อ เกียร์อัตโนมัติ แต่เนื่องจากเรามีโอกาสได้ลองขับในรุ่นเกียร์ธรรมดาด้วย ซึ่งก็จะหยิบยกมาพูดคุยกันพอเป็นกษัยเปรียบเทียบกับเกียร์อัตโนมัติ แต่การออกแบบโดยรวมถือว่า ไม่แตกต่างกันคือทำออกมาได้ค่อนข้างลงตัวขึ้น
โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์การออกแบบด้านหน้าใหม่แบบ “Dynamic Shield” ฝากระโปรงหน้าดูดุดันขึ้น พร้อมไฟหน้าดีไซน์ใหม่ติดตั้งอยู่บนตำแหน่งที่สูงขึ้นซึ่งในภาพกว้างการดีไซน์ลักษณะนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ที่มิตซูบิชิใช้ อยู่ในหลายรุ่น ที่ผ่านมาก็จะมีทั้งรถเอนกประสงค์ตัวเก่งของค่ายที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็คือ มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ นั่นเอง
ด้านข้างและด้านหลัง มีตัวถังดีไซน์ใหม่ผสานกันอย่างลงตัวด้วยส่วนโค้งมนตัดกับเส้นสายอันโฉบเฉี่ยว พร้อมซุ้มล้อขนาดใหญ่เน้นความแกร่งและความทันสมัยของ มิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่ รวมถึงชุดไฟท้ายและชุดกันชนดีไซน์ใหม่ช่วยเพิ่มความบึกบึนมากกว่าเก่าอย่างชัดเจน
ในส่วนของภายในห้องโดยสารของ มิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่ ยังคงใช้โทนสีที่อบอุ่น และดูแข็งแกร่ง พร้อมกับการออกแบบที่ที่ทันสมัย ซึ่งต้องยอมรับว่า มิตซูบิชินั้นยังรักษาความลงตัวสวยงามของการออกแบบภายในเอาไว้ได้อย่างโดดเด่น ตั้งแต่ไทรทันตัวแรก มาจนถึงเจนล่าสุดที่เราทดสอบกันนี้ รวมทั้งการออกแบบแผงควบคุมตลอดจนช่องแอร์ ที่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม อุปกรณ์ภายในใส่มาให้มากกว่าแอทลีท พอสมควรโดยยกมาจากปาเจโร่สปอร์ตเกือบทั้งหมด เดี๋ยวเราจะไปพูดกันอีกทีระหว่างพาทุกท่านไปทดสอบการใช้งานจริง
เครื่องยนต์ MIVEC 2.4 ลิตร VG Turbo 181 แรงม้า
ถ้าจะบอกว่า ต้นกำลังที่ใช้กับมิตซูบิชิ ไทรทันใหม่ นี้ถือว่าเป็นเครื่องยนต์ดีเซลอีกตัวหนึ่ง ที่ช่วยให้มิตซูบิชิได้รับความนิยมก็ไม่ผิดนัก ซึ่งตั้งแต่อดีตชื่อของกระบะมิตซูบิชิ โดดเด่นในเรื่องของความแรง แต่ก็มีชื่อในเรื่องของควันดำและการบริโภคน้ำมันอยู่บ้าง แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยให้การปรับปรุงเครื่องยนต์ที่ดีขึ้น การเผาไหม้สมบูรณ์ขึ้นควันน้อยลง และก็เป็นไปตามข้อกำหนดเรื่องของมลพิษที่ต้องผ่านในส่วนของ ยูโร 4 ด้วย
แต่ก็แน่นอนว่าความแรงยังคงไว้ใจได้เช่นเดิม จากเครื่องยนต์ขนาด 2.4 ลิตร ความจุอาจจะไม่ได้แตกต่างจากบล็อกก่อนๆ นัก แต่แรงม้าที่เรียกออกมาใช้งานได้นั้นมากถึง 181 ตัว ที่รอบเครื่องยนต์ต่ำเพียง 3,500 รอบ/นาที ส่วนแรงบิดทำได้ 430 นิวตัน-เมตร ที่ 2,500 รอบต่อนาที ด้วยความช่วยเหลือจากเทอร์โบแปรผัน หรือว่า VG เทอร์โบ ก็ช่วยให้รถมีอัตราเร่งที่ดีต่อเนื่อง ทั้งช่วงต้นๆ ไปถึงกลาง และอาจจะเลยไปถึงช่วงปลาย ก็ยังพอไหลไปได้ด้วยเช่นกันครับ
ส่วนเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ที่มีทริปทรอนิคหรือ มิตซูบิชิเขาเรียกว่าสปอร์ตโหมดนั้น ก็ใช้งานได้ง่าย ไม่งงกับวิธีการมากนัก ถ้าจะเล่นโหมดสปอร์ตที่คันเกียร์ก็แค่ถึงเข้าหาตัว และดันขึ้นเพิ่มเกียร์ หรือดึงลงลดเกียร์ปรกติ แต่ถ้าจะเล่นที่แพดเดิ้ลชิพซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังวงพวงมาลัย ซึ่งเขาออกแบบมาเป็นแบบตายตัว คือไม่เลี้ยวไปตามพวงมาลัย เพื่อให้ในขณะที่เราเปลี่ยนเกียร์นั้น ล้อรถควรจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ตรงมากที่สุดนั่นเอง แต่ตัวแป้นกดของแพดเดิ้ลชิพเองก็ออกแบบมากว้างหักพวงมาลัยไม่เยอะก็ยังสามารถกดได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ระบบส่งกำลัง หรือว่าเกียร์ ถือว่าเช็ตอัตราทดได้ค่อนข้างดี และมีความต่อเนื่องของเกียร์แบบไหลลื่น ไม่ต้องรอรอบในจังหวะของการเร่งแซงมากนัก ถือว่าเป็นอีกจุดเด่นที่น่าสนใจของไทรทันใหม่อีกส่วนด้วย และสำหรับเกียร์ธรรมดา แน่นอนครับว่า การเลือกใช้อัตราทดของเกียร์แต่ละเกียร์นั้นต้องมีความเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่การเซ็ตให้เกียร์ 1 กับ 2 อยู่ห่างกันหน่อยเป็นเรื่องที่หลายค่ายก็ทำ ออกตัวต้องใช้เกียร์ 1 ส่วน เกียร์ 2 เกียร์ 3 ใช้งานในเมืองจะใช้รอบไม่สูง ซึ่งก็มีผลกับเรื่องของความประหยัดด้วยเช่นกัน ส่วนสองเกียร์สุดท้าย ก็คือ 5 กับ 6 ก็แน่นอนว่ามีอัตราทดต่ำกว่าโอเวอร์ไดรฟ์ ซึ่งก็มีผลโดยตรงกับเรื่องของปลายที่ไหลได้ยาวๆ และความประหยัดด้วยเช่นกันครับ
ช่วงล่างกระด้างหน่อยแต่เกาะโค้งได้ดี
ช่วงทางโค้งระหว่างขึ้นดอยอินทนนท์ ว่าเยอะแล้ว แต่เส้นทางหลังจากลงดอยอินทนนท์นั้นโหดกว่า โดยเส้นทางทดสอบจะใช้เส้นทางไป อ.แม่แจ่ม ก่อนจะอ้อมเขาด้านหลังดอยอินทนนท์ ไปออก อ.แม่วาง โดยเส้นทางเป็นทางโค้งแคบมีไหล่เขา และหุบผาลึกชัน ซึ่งก็มีให้ลองโค้งแบบพับไปมา ขวา-ซ้าย จำนวนโค้งไม่หนีทางไปแม่ฮ่องสอน ผิดแต่ว่า แคบและชันกว่า งานนี้ได้ลองสมรรถนะของไทรทันใหม่กันอย่างเต็มที่ รวมถึงรัศมีวงเลี้ยวที่แคบ และคล่องตัว แต่จุดซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ของการทดสอบอีกส่วนหนึ่งก็คือ เส้นทางที่เป็นทางขรุขระ หรือจะเรียกว่าทางเดิร์ท หรือออฟโรดก็ไม่ผิดนัก
ระบบรองรับน้ำหนัก หลายคนบอกว่า แข็งไปหน่อย แต่สำหรับเรา ซึ่งใช้งานกระบะ 4 ประตูอยู่แล้วมองว่าเป็นธรรมชาติที่จะต้องเซ็ตเอาไว้เพื่อรองรับสัมภาระหนักๆ เมื่อต้องการบรรทุก ซึ่งด้านหน้าอาจจะไม่รู้สึกสะเทือนนักเพราะออกแบบมาเป็นอิสระปีกนกสองชั้นคอยล์สปริง แต่ว่าด้านหลังยังคงเป็นแหนบแผ่นวางเหนือเพลา กระด้างหน่อย แต่ก็ทำใหท้ายไม่ไว เกาะถนนได้เป็นอย่างดี
และแม้จะไม่ได้ลุยกันชนิดที่ต้องใส่เกียร์ขับเคลื่อนสี่ล้ออัตราทดต่ำ หรือ 4L แต่สำหรับทางฝุ่นที่ยาวเฉียดๆ 20 กม. เราก็ต้องปรับมาใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ 4H ซึ่งทางเป็นดินลูกรัง มีฝุ่น และร่องน้ำข้างทางลึก งานนี้ต้องอาศัยทักษะในการขับเล็กน้อย แต่ก็มั่นใจได้ในเรื่องของการยึดเกาะถนนของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่มีให้เลือกทั้งแบบ Super-Select 4WD II และแบบ Easy-Select 4WD ที่สามารถปรับเปลี่ยนโหมดการขับขี่ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งมิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่ ได้มีการเพิ่มเติมโหมดใหม่สำหรับการขับขี่บนเส้นทางออฟโรด สามารถปรับเปลี่ยนการตั้งค่าให้เหมาะสมกับรูปแบบการขับขี่ ได้แก่ GRAVEL MUD/SNOW SAND และ ROCK (ในตำแหน่ง 4LLc – ระบบขับเคลื่อนสี่ล้ออัตราทดความเร็วต่ำเท่านั้น) แต่งานนี้ใช้เพียง 4H ก็เพียงพอ
อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายระบบที่ใส่เข้ามาเพิ่มในเรื่องของความปลอดภัยในช่วงของการลุยทางฝุ่น หนึ่งในนั้นก็คือ กล้องรอบคันรถ หรือว่า มัลติ อะราวด์ มอนิเตอร์ ในช่วงที่ผ่านทางแคบร่องน้ำลึกก็สามารถกดดูกล้องในจุดอับสายตาได้ นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชันที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบไฟฟ้า หรือเรียกว่าระบบ Hill Descent Control ช่วยให้การขับขี่ขณะลงทางลาดชันได้อย่างมั่นใจ
ยังมีเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยและระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่อื่นๆ ที่เรา ทั้งได้ลอง และไม่ได้ลอง ก็คือระบบเตือนการชนด้านหน้าตรง พร้อมระบบช่วยชะลอความเร็ว (FCM) สามารถตรวจจับได้ทั้งพาหนะและคน, ระบบสัญญาณเตือนจุดอับสายตาและแจ้งเตือนขณะเปลี่ยนเลน (BSW with LCA) ช่วยตรวจจับพาหนะที่มาจากด้านข้างและด้านหลังขณะเปลี่ยนเลน พร้อมการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ด้วยระบบเสียงและสัญญาณไฟกระพริบที่กระจกมองข้าง, ระบบเตือนด้านหลังขณะถอยออกจากช่องจอด (RCTA) ป้องการการชนขณะขับถอยหลังออกจากช่องจอด, ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะเมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว (UMS) ช่วยลดอุบัติเหตุจากการเหยียบคันเร่งโดยไม่ตั้งใจขณะรถออกตัว หรือ ถอยรถออกจากช่องจอดรถ ฯลฯ
MITSUBISHI ALL NEW TRITON L200 ถือเป็นกระบะอีกยี่ห้อที่ครบเครื่องทั้งเรื่องของการลุย และการใช้งาน กับราคาค่าตัวที่ไม่ถึง ล้านหนึ่งแสนนั้น ถือว่าสร้างความคุ้มค่าในด้านการใช้งานได้เป็นอย่างดี มีทั้งเรื่องของความสด และเทคโนโลยีที่ใส่มาให้แบบจัดเต็ม ถือเป็นกระบะที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สนใจแนะนำให้ไปลองด้วยตัวเองครับ