มาสด้าเตรียมก้าวขึ้นสู่แบรนด์อันดับหนึ่งที่มัดใจลูกค้าทุกฟังก์ชั่น

มาสด้าเตรียมก้าวขึ้นสู่แบรนด์อันดับหนึ่งที่มัดใจลูกค้าทุกฟังก์ชั่น

ชูกลยุทธ์ Retention Business Model สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ประกาศแนวทางธุรกิจเพื่อมุ่งมั่นสู่การเติบโตแบบยั่งยืน พร้อมยกระดับประสบการณ์ลูกค้าอย่างเต็มกำลัง โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการสร้างแบรนด์และบริการหลังการขาย ตามกลยุทธ์ Retention Business Model ตั้งเป้าเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งที่ลูกค้าเลือก Top Customer Retention Brand และเป็นอันดับหนึ่งด้านการบริการ Top Service Retention เพื่อส่งมอบรอยยิ้มและความสุขให้กับลูกค้า สร้างความสำเร็จให้ผู้จำหน่าย และเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดไป

ทางด้านประธานบริหารมาสด้า มร. ทาดาชิ มิอุระ ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งครบหนึ่งปีเต็ม กล่าวว่า มาสด้าขอขอบคุณลูกค้าชาวไทยเป็นอย่างสูงที่ไว้วางใจในผลิตภัณฑ์และสนับสนุนมาสด้าเป็นอย่างดี นับตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา มาสด้ากำหนดแนวทางในดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลธุรกิจ Retention Business Model สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าในทุก Touchpoints ส่งมอบการบริการที่เป็นเลิศแบบครบวงจร ตั้งแต่ก่อนการขายจนถึงการบริการหลังการขาย ให้ความสำคัญสูงสุดกับการสร้างคุณค่าแบรนด์และสร้างความผูกพันกับลูกค้าในระยะยาว นับเป็นนโยบายสำคัญที่มาสด้ายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ และส่งมอบให้กับลูกค้าในประเทศไทยและทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าและแฟนมาสด้า รวมถึงผู้จำหน่ายด้วยเช่นกัน

สำหรับปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่ามาสด้าประสบความสำเร็จจากการนำ Rentention Business Model มาใช้ โดยเฉพาะในด้านของการกลับมาเข้ารับบริการของลูกค้า (Service Retention) ที่เพิ่มขึ้นจาก 72% ในปีงบประมาณ 2561 เป็น 85% ในปีงบประมาณ 2565 พร้อมกับมีอัตราการกลับมาซื้อซ้ำของลูกค้า (Repurchase) เพิ่มสูงขึ้นจาก 15% ในปีงบประมาณ 2561 เป็น 30% ในปีงบประมาณ 2565 หรือเพิ่มขึ้น 100% ซึ่งเป็นไปตามแผนที่มาสด้าวางไว้ นอกจากนั้น การแผนการพัฒนาธุรกิจรถมือสองคุณภาพดี Mazda CPO ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี ส่งผลให้ราคารถยนต์มือสอง (Residual Value) มีราคาขายต่อสูงขึ้น เช่น มาสด้า2 อายุ 6 ปี มีมูลค่าการขายต่อเพิ่มขึ้นเป็น 55%

มร. ทาดาชิ มิอุระ แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีงบประมาณ 2566 ว่า “ภาพรวมปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากปี 2565  คาดว่าตัวเลข GDP จะโตอยู่ในช่วง 3.3%-3.7% ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวด้านการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ภาคการเกษตรและการส่งออก ทำให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์จะเติบโตขึ้นเล็กน้อยประมาณ 5% คาดว่ายอดรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 900,000 คัน ในขณะที่มาสด้าได้ตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 3.5% เนื่องจากจะมีรถยนต์รุ่นใหม่เข้ามาเสริมทัพ”

อีกหนึ่งความสำเร็จ คือ รถยนต์ภายใต้เทคโนโลยีสกายแอคทีฟที่มาสด้ามุ่งมั่นพัฒนาจนได้รถยนต์ที่ให้ทั้งความแรงและประหยัดน้ำมัน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงความสนุกสนานในการขับขี่อันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งใช้แนวทางการออกแบบ KODO-Soul of Motion ในการสร้างความโดดเด่นให้กับตัวรถ โดยมาสด้าเริ่มจำหน่ายรถยนต์ภายใต้เทคโนโลยีสกายแอคทีฟรุ่นแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2556 และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น จนถึงปัจจุบันอยู่ในการครอบครองของลูกค้าแล้วมากกว่า 360,000 คัน โดยมาสด้า2 ยังคงครองความนิยมในตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ด้วยจำนวน 224,000 คัน มาสด้า3 จำนวน 42,000 คัน ครอสโอเวอร์เอสยูวี มาสด้า CX-3 จำนวน 30,000 คัน มาสด้า CX-30 จำนวน 20,000 คัน มาสด้า CX-5 จำนวน 35,000 คัน มาสด้า CX-8 จำนวน 6,000 คัน รถสปอร์ตโรดสเตอร์เปิดประทุน มาสด้า MX-5 จำนวน 150 คัน และรถปิกอัพต้นแบบแห่งความสง่างาม มาสด้า BT-50 อีกจำนวน 3,000 คัน