ระบบเบรก ABS ระบบความปลอดที่จำเป็นสำหรับรถยนต์ปัจจุบัน
อุปกรณ์แห่งความปลอดภัยที่ติดตั้งในรถยนต์มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เข้าก็จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ จำแนกตามการทำงานตามหน้าที่ของมันก็คือ Active Safety และ Passive Safety ซึ่งในแบบแรกเราจะหมายถึงความปลอดภัยในเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุ และแบบหลังเป็นความปลอดภัยเชิงปกป้องหลังเกิดเหตุ แอคทีพเซฟตี้ ที่มีอยู่ในรถนั้นมีอยู่หลายระบบไม่ว่าจะเป็น ระบบเบรก เอบีเอส ระบบแทร็คชั่นคอนโทรล ที่อาจจะมาพร้อมกับ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ซึ่งแต่ละบริษัท แต่ละยี่ห้อก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ส่วนพาสทีพเซฟตี้ ก็เป็นต้นว่า ถุงลมนิรภัย, เข็มขัดนิรภัย ก็จะช่วยปกป้องอันตรายจากอุบัติเหตุได้
ระบบเบรก ABS มันคืออะไร
สำหรับระบบเบรก ABS ซึ่งย่อมาจาก Anti-Lock Brake System หรือระบบเบรกป้องกันล้อล็อกตาย ระบบนี้ออกแบบมามีหน้าที่ไม่ให้เกิดล้อล็อคในขณะที่เราเหยียบเบรกด้วยความเร็ว ความแรง เพื่อต้องการหยุดรถแบบกระทันหัน แต่ในระบบเบรกที่ไม่มี ABS เมื่อเราเหยียบเบรกอย่างกระทันหันล้อแล้วจะถูกล็อกตาย จากนั้นลื่นไถลไปตามทิศทางของแรงเฉื่อยที่เกิดขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือไม่ว่าจะหมุนพวงมาลัยไปทางไหนก็ตาม รถก็จะยังคงไถล ไปตามทิศทางของแรงเฉื่อย เรียกง่ายๆ ว่า เราไม่สามารถควบคุมรถให้ไปในทิศทางตามพวงมาลัยที่เราหักเลี้ยวได้นั่นเอง ระบบ ABS จึงมีส่วนสำคัญในการลดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะช่วงฝนตกถนนลื่น
การออกแบบให้ระบบเบรกทำงานแบบจับ-ปล่อยในจังหวะที่เร็วประมาณ 16 – 50 ครั้ง/วินาที ซึ่งทำได้เร็วกว่าการย้ำเบรกด้วยเท้าของเรามาก นอกจากระบบจะช่วยให้ล้อไม่ล็อกแล้ว ทำให้ยังสามารถที่จะควบคุมทิศทางของรถได้ดังที่เราต้องการอีกด้วย
การทำงานไม่ซับซ้อนเน้นประสิทธิภาพ
ABS จะประกอบไปได้ส่วนสำคัญหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เซ็นเซอร์จับความเร็วของล้อรถจะทำหน้าที่ส่งข้อมูลความเร็วซึ่งถูกแปลงเป็น สัญญาณไฟฟ้า ไปที่กล่องควบคุมABS ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับ ECU โดยจะประมวลผลและส่งสัญญาณไปที่ ตัวควบคุมแรงดันน้ำมันเบรก ซึ่งตัวนี้จะทำหน้าที่ในการทำให้ระบบเบรก ABS สมบูรณ์ เพราะเมื่อมีการเบรกกะทันหัน แรงดันน้ำมันเบรกจะถูกส่งออกไปเป็นคลื่นเหมือนการย้ำเบรก
เราสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเราเองว่า ABS ยังทำงานเป็นปรกติดีหรือเปล่านั้น สามารถตรวจสอบได้โดยดูจากสัญญานไฟโชว์บนแผงหน้าปัด คือหลังจากที่เราบิดสวิทช์กุญแจ ON แล้ว ไฟโชว์ต่างๆ จะแสดงให้เห็น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็จะมีไฟโชว์ของ ABS ด้วย แต่หลังจากที่สตาร์ทเครื่องยนต์เรียบร้อยแล้ว ไฟโชว์ต่างๆ จะดับไปแสดงว่าระบบความปลอดภัย หรือระบบต่างๆ นั้นไม่มีปัญหา
แต่ถ้าเมื่อใดที่ไฟโชว์ ABS ขึ้นบนแผงหน้าปัด นั่นแสดงว่า ABS ไม่ทำงาน อาจเกิดปัญหาที่จำเป็นจะต้องเข้าศูนย์บริการตรวจสอบ และแก้ไขให้เรียบร้อยโดยทันที
รู้ได้อย่างไรว่า ABS กำลังช่วยเหลือเรา
ความรู้สึกต่อเท้าเราเมื่อ ระบบเบรก เอบีเอสทำงานก็คือจะเกิดแรงต้าน หรือชกที่แป้นเบรก ลักษณะเป็นแรงสะท้าน ซึ่งหลายคนที่ไม่เคยสัมผัสกับการทำงานของ เอบีเอส ก็อาจจะตกใจได้ แต่นั่นถือเป็นการทำงานปรกติของเจ้าระบบนี้จำเอาไว้อย่างเดียวครับว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ให้ต้องเบรกกระทันหันนั้นต้องเหยียบเบรกให้เร็ว และแรงสุดเท้า ไม่ต้องกลัวรถไหลเพราะล้อล็อคถ้ามีระบบจะช่วยเหลือเราเอง ซึ่งถ้าระยะเบรกไม่เพียงพอเรายังสามารถหักหลบ และควบคุมรถไปในทิศทางที่เราต้องการได้แม้จะเหยียบเบรกค้างไว้ก็ตาม
ABS อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การพัฒนาไม่ได้หยุดนิ่งเพียงแค่นั้น การออกแบบให้ระบบมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงมากยิ่งขึ้นนั้นก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กับการที่รถยนต์รุ่นใหม่ๆ โฆษณาว่าติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อคตายมาให้เรียบร้อยแล้วแต่ประสิทธิภาพการทำงานยังไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ABS ก็ยังถือเป็นสิ่งจำเป็นที่รถยนต์รุ่นใหม่ขาดไม่ได้เช่นเดียวกับเทคโนโลยีความปลอดภัยอื่นๆ อีกหลายรูปแบบ