เทคนิคการเลือกซื้อรถมือสอง

เทคนิคการเลือกซื้อรถมือสอง ต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด

การเลือกซื้อรถมือสองถ้าไม่มีความรู้ หรือแนวทางการเลือกซื้อที่ถูกต้องก็อาจจะทำให้เราเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และมีความเสี่ยงในการเดินทาง อีกทั้งใช้แล้วไม่ถูกใจ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เสียศูนย์ ซ่อมไม่จบ รวมทั้งปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการป้องกันการ “ย้อมแมว” สำหรับรถมือสอง

สังคมอยู่ยากพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดอย่างน้อยเมื่อเรามีหลักการดูรถใช้แล้วที่ถูกต้อง เราก็คงไม่ได้เป็น “หมู” ให้ใครเชือดได้ง่ายๆ แน่นอน

การประเมินสภาพรถใช้แล้ว ( Evaluating Used Cars ) ด้วยความรู้พื้นฐานอันน้อยนิดเกี่ยวกับรถ คุณสามารถใช้ความรู้ทั่วไป และความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ จากผู้เชี่ยวชาญ ในการประเมินคุณภาพ และเครื่องยนต์ของรถ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ก่อนที่คุณจะใช้เวลาในการทดสอบรถนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ การเช็คประวัติการใช้งานของรถคันดังกล่าว ซึ่งทำให้เราสามารถ พอที่จะรู้ได้ว่า

– รถคันดังกล่าวเคยประสบอุบัติเหตุร้ายแรง หรือภัยทางธรรมชาติหรือเปล่า

– มีการทำสีมาหรือเปล่า

– รถมีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์การครอบครองหรือเปล่า / เปลี่ยนมาแล้วกี่ครั้ง

– รถมีการปรับเลขไมล์หรือเปล่า

– เคยเกิดอุบัติเหตุรุนแรงมาก่อนหรือไม่ (ในท้องที่ใด )

จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลที่ดีในการเช็คประวัติการใช้งานของรถ ก่อนที่คุณจะทำการตรวจเช็คสภาพรถในขั้นตอนถัดไป

หลังจากที่ได้มีการเช็คประวัติการใช้งานของรถ, ตรวจดูสภาพรถโดยรอบ, และทดลองขับแล้ว การที่คุณจะลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 2,000 ถึง 3,000 บาท เพื่อจ้าง ช่างเครื่องยนต์ที่มีประสบการณ์ และเชื่อถือได้มาตรวจสอบสภาพรถอีกครั้ง โดยช่างเครื่องยนต์จะสามารถทำการเช็คสภาพเครื่องยนต์โดยละเอียด และสามารถค้น พบปัญหาที่จะส่งผลให้คุณเสียค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ หลังจากที่ซื้อรถไปแล้ว

การตรวจสอบร่องรอยอุบัติเหตุ การที่จะทำการตรวจสอบว่ารถคันนี้เคยประสบอุบัติเหตุมาก่อนหรือไม่ สามารถรู้ได้จากวิจารณญาณของช่าง นอกจากนี้ช่างสามารถบอกได้ถึงคุณภาพ ของงาน ซ่อมอีกด้วย และก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธรถที่ผ่านการซ่อมมาเป็นอย่างดี และด้วยความรู้เรื่องของการซ่อมเป็นอย่างดี ก็จะช่วยในการต่อรองราคากับ เจ้าของรถ นอกจากการให้ช่างหรือผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบรถแล้ว ยังมีวิธีอื่นที่ใช้ในการตรวจสอบอีกคือ

  1. สามารถเช็คได้จากความกลมกลืนของสี, ความมันวาว, และความเสมอกันของเนื้อสี โดยทั่วไปแล้วถ้ามีอุบัติเหตุร้ายแรง และมีการซ่อมแซมสี คุณจะสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างของสี หรือริ้วคลื่นของสีบริเวณตัวถังรถ หรือ รอยต่อของรถ
  2. นอกเหนือจากสีแล้ว ยังสามารถสังเกตความเข้ากันของชิ้นส่วนต่างๆ ของรถ โดยการเดินไปที่บริเวณหน้าและหลังรถเพื่อให้สังเกตถึงความไม่เท่ากัน ของจุดเชื่อมต่อได้ง่ายยิ่งขึ้น

การค้นหารถที่ต้องการ

  1. ขอดูคู่มือการรับบริการ และเอกสารติดรถอื่นๆ เป็นที่น่ายินดีถ้าเจ้าของรถเก็บเอกสารดังกล่าวไว้ เพราะว่าเอกสารพวกนี้ ช่างเครื่องยนต์ที่มีประสบการณ์ หรือคนที่มีความคุ้นเคยกับการซ่อมเครื่องยนต์ สามารถบอกรายละเอียดของรถได้อย่างมากมาย เจ้าของรถที่มีการเก็บเอกสารไว้ ส่วนมากจะเป็นคนที่มีการดูแลรักษารถ และนำรถเข้าศูนย์บริการเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมดูที่เอกสารเหล่านั้นว่าเป็นของรถคันนั้นหรือไม่ และถ้ามีการซ่อมบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของรถเป็นเวลาหลายๆครั้ง ให้ลองสอบถามกับเจ้าของ รถว่าเกิดอะไรกับชิ้นส่วนดังกล่าว และบอกกับช่างเครื่องที่มาช่วยตรวจสอบเครื่องเพื่อทำการเช็คในจุดดังกล่าวอีก
  2. เช็คการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ยาง, ยางกรอบประตู, แป้นเหยียบ, และเข็มขัดนิรภัย: คุณสามารถเช็คการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าวควบคู่ไปกับการเช็คเลขไมล์ที่วิ่งในการตรวจสอบสภาพรถได้ โดยการเช็คว่าถ้าเลขไมล์ที่วิ่งน้อย แต่อุปกรณ์ต่างๆ เสื่อมสภาพไปมากแล้ว อันนี้จะแสดงถึงความผิดปรกติของรถ แต่ในทางกลับกันถ้าเลขไมล์ที่วิ่งสูง แต่อุปกรณ์อื่นๆ ยังอยู่ในสภาพดี รถคันนั้นก็ดู น่าสนใจ
  3. สอบถามเกี่ยวกับ สถานที่ ( ภูมิภาค ) และสภาวะแวดล้อมในการขับขี่ของเจ้าของเดิม
  4. เช็คอุปกรณ์ต่างๆ รอบตัวรถ:

– เริ่มต้นจากการเช็ค ไฟบอกสัญญาณต่างๆ เช่น ไฟบอกสัญญาณเลี้ยว และไฟเบรก – เช็คแตร ว่าเสียงดังฟังชัดหรือไม่ และความยากง่ายในการบีบแตร

– เช็คอุปกรณ์ทำความสะอาดกระจกรถ เช่น ใบปัดน้ำฝนอยู่ในสภาพดี ไม่แข็งหรือเหนียวจนเกินไป และอุปกรณ์ฉีดน้ำทำงานตามปกติหรือไม่

– เช็คสภาพยางรถยนต์ โดยการตรวจสอบความสึกหรอของยางทั้ง 4 ล้อว่าเท่ากันหรือไม่ การสังเกตการสึกหรอของยางสามารถบ่งบอกถึง การวางตัวของ โครงสร้างรถ สภาพของยางเป็นจุดที่ควรตรวจสอบเพราะว่า ราคาของยาง 4 เส้นก็เป็นราคาค่อนข้างสูง ซึ่งคุ้มค่ากับการตรวจสอบ

การเช็คเลขไมล์ การเช็คว่าเลขไมล์ถูกปรับแต่งหรือไม่นั้น ขั้นแรกทำได้โดยการสอบถามถึงอัตราของการใช้รถโดยเฉลี่ยต่อปี แต่ว่าถ้าไม่ใช่รถใหม่ที่ซื้อมาจากตัวแทน จำหน่ายข้อมูลที่ได้มาก็จะไม่สามารถใช้ในการพิจารณาได้ ขั้นต่อไปให้มองหาความแตกต่างระหว่างตัวเลขในเอกสารกับเลขไมล์จริงที่รถ ส่วนมากในเอกสารที่ได้ มาจากการเข้าศูนย์บริการต่างๆ จะมีเลขไมล์บอกกำกับอยู่ด้วย ดังนั้นวิธีการเช็คอย่างง่ายก็คือ การเปรียบเทียบระหว่างเลขไมล์ในเอกสาร และวันที่เข้ารับ การบริการกับเลขไมล์จริงที่รถ แค่นี้คุณก็สามารถบอกได้ว่าตัวเลขเหล่านี้มีการปรับแต่งหรือไม่

การทดลองขับจริงและข้อควรสังเกต คุณควรจัดสรรเวลาส่วนใหญ่ในการทดลองขับจริง เพราะว่าการทดลองขับจริงสามารถบอกได้หลายอย่างเกี่ยวกับตัวรถ เช่น โครงสร้างภายในของรถ เหมาะสมกับตัวคุณหรือไม่ การควบคุมรถบนท้องถนน และรวมถึงเสียงต่างๆ โดยมีข้อควรสังเกตในการทดลองขับจริงดังต่อไปนี้

– ทดลองปรับพนักที่นั่งในตัวรถว่า เหมาะสมกับตัวคุณหรือไม่ และรวมไปถึงความยากง่ายในการควบคุมรถ นอกเหนือไปจากนี้คุณอาจลองจินตนาการดูว่า ถ้าใส่อุปกรณ์กีฬา หรือของใช้ต่างๆ จะใส่ไว้ที่ไหนได้บ้าง

– ตรวจสอบประสิทธิภาพของเข็มขัดนิรภัย ว่ายังสามารถใช้งานได้อยู่หรือไม่ และคาดแล้วรู้สึกอย่างไร

– เช็คสภาพการมองเห็นของกระจกหน้ารถ กระจกมองข้าง และกระจกมองหลัง ว่าสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนหรือไม่

– ทดลองจอดรถเทียบข้างถนน เพื่อเช็คดูว่ามีความยากง่าย หรือจุดบอดใดหรือไม่

– ลองเหยียบ คลัตช์ เบรกและคันเร่งต่างๆ เพื่อเช็คถึงความสะดวกสบายในการใช้หรือไม่ ในกรณีที่ทำการทดสอบรถขับเคลื่อนสี่ล้อ อย่าลืมทดสอบการใช้ ระบบเกียร์ 4WD ดูว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่

– เช็คระบบทำความร้อน และระบบทำความเย็นของรถ ว่ายังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

– เช็คช่องระบายลม ว่ามีลมออกดีทุกช่องหรือเปล่า รวมไปถึงระบบไล่ฝ้า ว่ามีความร้อนเกิดขึ้นหรือเปล่า

– ลองสตาร์ทเครื่อง แล้วฟังดูว่ามีเสียงเครื่องกระตุกหรือไม่ แล้วจึงทำการเหยียบเร่งเครื่องอย่างช้าๆ เพื่อฟังเสียงเครื่องอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างที่กำลังเร่ง เครื่องอยู่นั้นให้เช็คอีกทีว่า มีลมออกจากช่องแอร์อย่างต่อเนื่องหรือเปล่า

– ในตอนเริ่มต้นของการขับปกติ ให้เช็คระบบการขับเคลื่อน และการเปลี่ยนเกียร์ ในขณะเดียวกันให้ลองฟังเสียงที่เล็ดลอดมาในรถเพื่อตรวจสอบรอยต่อ ของกระจก และประตู

– หลังจากที่ขับไปสักพัก ให้ทำการทดลองขับผ่านทางชัน ด้วยความเร็วต่ำ ( ประมาณ 20 กม./ชม.) ก่อน 1 รอบ และ ความเร็วระดับปานกลาง ( ประมาณ 45 กม./ชม.) อีก 1 รอบ ในระหว่างที่ขับผ่านทางชันให้ลองฟังเสียงของช่วงล่าง เพื่อเช็คความสมบูรณ์ของข้อต่อต่างๆ

– วางแผนการทดสอบการขับรถโดยให้มีทั้งทางเรียบ และทางขรุขระ ในขณะที่ขับอยู่บนทางเรียบให้ลองจับพวงมาลัยแบบหลวมๆ เพื่อตรวจสอบดูว่า ศูนย์ตรงหรือเปล่า โดยการสังเกตว่ารถเลี้ยวไปทางไหนหรือเปล่า

– ในการทดสอบระบบเบรก ทำได้โดยการหาช่วงถนนที่ไม่ค่อยมีรถขับไปมาแล้ว ทำการเบรกจากระดับความเร็วที่ 50 กม./ชม. และถ้าเบรกแล้วมีอาการ สั่นที่คันเบรก ให้เช็คดูว่ารถคันนั้นมีระบบ ABS หรือเปล่า เพราะว่าเป็นอาการปกติของรถที่มีระบบนี้

– สุดท้ายก่อนที่จะสิ้นสุดการทดลองขับจริง ให้เช็คระบบควบคุมและ ระบบไฟฟ้าภายในรถว่ายังใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ เช่น ทดสอบชุดเครื่องเสียง และลำโพงโดยการเพิ่มและลดระดับเสียง ทดสอบการใช้งานของปุ่มควบคุมต่างๆบนรถ โดยอาจจะสอบถามลักษณะการใช้งานจากเจ้าของรถ ทดสอบ การทำงานของระบบเซ็นทรัล ล็อก และการเปิด-ปิดของประตู เช็คดูว่าเอกสารอยู่ครบหรือไม่ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดมากับตัวรถอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถนำติดตัวไปใช้ได้เมื่อคุณต้องการเลือกซื้อรถมือสองซักคัน ใช้หลักเพียงแค่ “ถูกตาต้องใจ” อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองให้ลึกถึงรอยเชื่อมด้านใน การเลือกซื้อรถไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชค แม้รถใหม่ๆ ออกจากศูนย์ยังพังได้ไม่รู้จบ นับประสาอะไรกับรถมือสองก็อาจแวะเยี่ยมอู่บ่อยๆ  แต่ถ้าได้คันที่สมบูรณ์ โอกาสในการ “กินข้าวลิงข้างทาง” ก็น้อยลงไปมากผมเชื่ออย่างนั้นครับ