ทดสอบ MAZDA CX-30

ทดสอบ MAZDA CX-30 เส้นทาง ขอนแก่น น้ำหนาว เขาค้อ พิษณุโลก

ด้วยสถานการณ์ ไวรัส โควิท 19 ที่ถือว่าเป็นปัญหาระดับโลก และส่งผลกระทบกับการดำรงค์ชีวิตของคนไทย หลายกิจกรรมต้องยกเลิก โดยเฉพาะการเปิดตัวรถยนต์ในช่วงเตรียมพร้อมก่อนมอเตอร์โชว์ที่มีการประกาศเลื่อนการจัดงานออกไปเป็นช่วงปลายเดือนเมษายน การเปิดตัวรถยนต์ใหม่ MAZDA CX-30 แม้ไม่ได้จัดงาน แต่ ก็มีการเผยโฉมและประกาศในโลกโซเชี่ยล ทั้งข้อมูลและเรื่องราคา และครั้งนี้เราก็มีโอกาสได้ ทดสอบ MAZDA CX-30 เส้นทาง ขอนแก่น น้ำหนาว เขาค้อ พิษณุโลก เพื่อพิสูจน์ความน่าใช้กันอย่างไม่ต้องรีรอกังวลใจ

การทดสอบ MAZDA CX-30 ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจเนื่องจาก CX-30 เป็นรถเซ็กเม้นต์ใหม่ของค่าย มาสด้า ที่จะเข้ามาเติมเต็มขนาดของรถประเภท ครอสโอเวอร์ และเอสยูวี ให้ลูกค้าได้มีตัวเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งขนาดของ CX-30 นี้จะคั่นอยู่กลางระหว่าง CX-3 กับ CX-5 นั่นเอง

ออกแบบจากแพล็ทฟอร์ม MAZDA3

หลายคนอาจสงสัยในชื่อของ MAZDA CX-30 ถึงเป็นเลข 2 ตัว ไม่ใช้ชื่อ CX-4 เช่นเดียวกับในประเทศจีน เหตุผลก็คือ CX-30 นั้น ใช้แพลทฟอร์มจาก MAZDA3 ที่ใช้ตัวถัง SKACTIV-Vehicle Architecture ซึ่งเป็นสกายแอคทีฟแพลตฟอร์มเจเนอเรชั่นที่ 7 ตัวใหม่ล่าสุด ส่วน CX-4 ที่มีจำหน่ายในจีนนั้น ใช้แพลทฟอร์มจาก MAZDA3 รุ่นเก่า แน่นอนครับว่า ในตัวที่เป็นเลขรหัสตัวเดียวอย่าง CX-3, CX-5 และ CX-8 ก็ยังไม่ใช้ตัวของ SKACTIV-Vehicle Architecture

สำหรับการออกแบบด้านหน้าของ CX-30นั้นถือว่าโดดเด่นและโฉบเฉี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซิกเนเจอร์วิงที่เป็นเอกลักษณ์ของมาสด้านั้นอยู่ในรูปแบบที่คมชัดและลึกกว่าเดิม ส่วนกันชนหน้า ก็ออกแบบเพื่อให้ได้หน้ารถที่มีลักษณะพุ่งไปข้างหน้า ส่วนไฟหน้า เป็นโปรเจ็คเตอร์ LED ที่สามารถปรับระดับ สูงต่ำอัตโนมัติ และเปิดปิดอัตโนมัติด้วย มีไฟ Daytime Running Lamp แบบธรรมดาในตัวรองท็อป และแบบ LED ในตัวท็อป

ด้านข้างตัวถังแสดงถึงรูปแบบที่หลากหลายตามมุมมองและแสงที่ตกกระทบ ซุ้มล้อด้านหลังยื่นเด่นออกมาจากห้องโดยสาร รวมกับรูปทรงโค้งของประตูท้ายดูเข้าชุดกับโคมไฟท้ายที่ได้รับการออกแบบให้มีความโฉบเฉี่ยว โดยจะเป็นแบบ LED Signatureแสงรูปวงแหวนจะเห็นเด่นชัดในตอนกลางคืน การออกแบบโดยรวมในสไตล์ของมาสด้า เราถือว่าดูเรียบหรู สวยงามเน้นเส้นสายที่พริ้วไหวตามแสงกระทบ เหลี่ยมสันไม่มาก และถ้าเราดูกันที่ตัวเลขของความสูงใต้ท้องรถอยู่ที่ 175มม. เทียบกับคู่แข่งแล้วถือว่ามีความสูงมากกว่า SUV ในระดับ C เซ็กเม้นต์ ในขณะที่ความสูงตัวรถทั้งหมด 1,540 มม. ก็ยังต่ำกว่าคู่แข่ง ว่ากันง่ายคือตัวถังมีความแบนและเรียวกว่ารถในระดับเดียวกัน มีคำถามว่าแล้วอย่างนี้ภายในจะนั่งสบายหรือไม่ มีคำตอบให้แน่นอนครับ

CX-30 มีให้เลือกทั้งล้ออลูมิเนียมอัลลอยด์ ขนาด 18 นิ้ว ในตัวท็อปและ16 นิ้วในรุ่นอื่น โดยยางจะเป็นขนาด 215/55R18 และ 215/65R16 ซึ่งรุ่นที่เรามีโอกาสได้ทดสอบนั้นเป็นรุ่น 2.0SP หรือว่าตัวท็อป ก็คงจะต้องขอหยิบยกเอาความรู้สึกต่างๆ เฉพาะในตัวสูงสุดมาพูดกันเท่านั้น

ภายในเรียบแต่ดูล้ำ

การออกแบบห้องโดยสารของ CX-30 ถือว่ามีความสวยงาม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการออกแบบภายนอก เน้นความเป็นเอนกประสงค์ตามแนวคิดการออกแบบของรถเอสยูวี บริเวณที่นั่งคนขับนั้นมีความสมมาตรและมีศูนย์กลางอยู่ที่คนขับ มาตรวัดทั้งสามบนหน้าปัด และจอแสดงผลส่วนกลางทำมุมเอียงอย่างถูกต้องไปยังตำแหน่งการขับขี่ ทำให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถได้ง่าย

แผงคอนโซลหน้าแผ่กว้างทอดยาวจากแผงหน้าปัดไปจรดขอบประตูด้านผู้โดยสาร ส่วนคอนโซลกลางก็ถือว่ากว้างทำให้สามารถจัดวางตำแหน่งคันเกียร์ ที่วางแก้ว และปุ่มควบคุม ใกล้กับผู้ขับขี่เพื่อการใช้งานที่สะดวก แผงคันเกียร์ใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูปสองชั้นของมาสด้าที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับ Mazda3 ใหม่

พื้นที่ภายในห้องโดยสารนี้ทำให้ผู้โดยสารทุกคนรู้สึกสบายและผ่อนคลายแม้ขับขี่เป็นระยะทางไกลๆ ในขณะที่พื้นที่เก็บสัมภาระมีการปรับปรุงให้มีพื้นที่บรรทุกสัมภาระได้มากขึ้น ระยะห่างระหว่างเบาะนั่งคู่หน้าที่มากถึง 740 มิลลิเมตร ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับ CX-5 บริเวณคอนโซลกลางที่กว้างและที่พักแขนบริเวณประตู ทำให้ได้เบาะนั่งที่ให้ความสบายและผ่อนคลาย ระยะที่เพิ่มขึ้นระหว่างตำแหน่งสะโพกของเบาะนั่งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้พื้นที่ผู้โดยสารด้านหลังมีพื้นที่บริเวณขากว้างมากขึ้น ตลอดจนพื้นและจุดสะโพกที่ต่ำทำให้ที่นั่งด้านหลังสะดวกสบายแม้ผู้โดยสารจะตัวสูง นี่ก็ถือเป็นการตอบคำถามที่ว่า CX-30 มีการออกแบบพื้นที่ภายในห้องโดยสารอย่างไรให้ผู้โดยสารดูแล้วไม่อึดอัด

ตารางเปรียบเทียบคุณลักษณะที่สำคัญ

CX-30 CX-3 CX-5
ความยาวรวม มิลลิเมตร 4,395 4,275 4,550
ความกว้างรวม มิลลิเมตร 1,795 1,765 1,840
ความสูงรวม (ถึงหลังคารถ) มิลลิเมตร 1,540 1,535 1,680
ระยะฐานล้อ มิลลิเมตร 2,655 2,570 2,700
ระยะจากล้อหน้าถึงกันชนหน้า มิลลิเมตร 915 910 950
ระยะจากล้อหลังถึงกันชนหลัง มิลลิเมตร 825 795 900
ระยะต่ำสุดจากพื้น มิลลิเมตร 175 160 193
ระยะเหนือศีรษะด้านหน้า มิลลิเมตร 967 976 1,007
ระยะบริเวณไหล่ด้านหน้า มิลลิเมตร 1,412 1,360 1,451
ระยะบริเวณขาด้านหน้า มิลลิเมตร 1,058 1,058 1,041
ระยะเหนือศีรษะด้านหลัง มิลลิเมตร 973 944 991
ระยะบริเวณไหล่ด้านหลัง มิลลิเมตร 1,361 1,281 1.391
ระยะบริเวณขาด้านหลัง มิลลิเมตร 921 888 1,007

 

 

 

 

 

 

 

 

ความจุสัมภาระขนาด 317 ลิตร (VDA) ขนาดกว้างพอที่จะรองรับรถเข็นเด็กและกระเป๋าเพิ่มอีกหนึ่งใบ เช่น กระเป๋าเดินทางที่สามารถถือขึ้นเครื่องบิน เป็นต้น ในขณะที่ประตูท้ายที่มีขนาดกว้าง 1,020 มิลลิเมตร ทำให้มีพื้นที่เก็บสัมภาระและใช้งานได้ง่าย ส่วนประตูท้าย เปิดปิด ด้วยระบบไฟฟ้า

พวงมาลัยที่สามารถปรับสูงต่ำได้ถึง 45 มิลลิเมตร และมีช่วงยืดเข้าออก มากถึง 70 มิลลิเมตร ช่วยให้สามารถปรับตำแหน่งการขับขี่ได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ เบาะนั่งด้านหน้าที่สามารถปรับระดับความเอียงได้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เพื่อช่วยรองรับต้นขาของผู้ขับขี่ได้อย่างเหมาะสม

CX-30 ใช้ระบบ Mazda Connect รุ่นเดียวกับ Mazda3 ใหม่ การปรับปรุงสมรรถนะการทำงานขั้นพื้นฐานทำให้ระบบทำงานได้เร็วกว่ารุ่นก่อนหน้า ระบบเสียงลำโพง 12 ตัว ที่พัฒนาร่วมกับ Bose Corporation ด้วยรูปแบบการจัดวางลำโพงพื้นฐานของระบบ Mazda Harmonic Acoustics ลำโพง 12 ตัวของระบบเสียง Bose®ประกอบด้วยลำโพงเสียงต่ำขนาด 3 ลิตร ที่ติดตั้งบริเวณด้านข้างของคอนโซลหน้า ลำโพงเสียงแหลมขนาด 2.5 เซนติเมตร ที่ด้านซ้ายและขวาของกระจกมองข้าง และลำโพงเสียงกลางขนาด 8 เซนติเมตร ในส่วนบนของแผงประตูหน้าและหลัง เพิ่มลำโพงกลาง 8 ซม.กลางคอนโซลหน้าด้านบน ลำโพงคู่หลังและซับวูฟเฟอร์ นอกจากนี้ยังสามารถปรับแต่งเสียงได้เอง

เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ตัวเดียวกับ MAZDA3

อย่างที่เรารู้กันดีว่า มาสด้าได้เปิดตัว SKACTIV-Vehicle Architecture ซึ่งเป็นสกายแอคทีฟแพลตฟอร์มเจเนอเรชั่นใหม่ ตัวแรกที่เห็นก็คือใน MAZDA3 และแน่นอนว่าใน CX-30 ก็ยกเอาแพลทฟอร์มนี้มาใช้ทั้งเครื่องยนต์ เกียร์และช่วงล่าง

เครื่องยนต์ SKYACTIV-G 2.0 รุ่นล่าสุดของมาสด้ามีการพัฒนาท่อไอดีและรูปทรงของลูกสูบที่เหมาะสม ระบบการฉีดน้ำมัน วาล์วควบคุมน้ำหล่อเย็น เพื่อประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ที่สูงขึ้น ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

คุณลักษณะจำเพาะของเครื่องยนต์สกายแอคทีฟเบนซิน

SKYACTIV-G 2.0
ปริมาตรกระบอกสูบ 1,998 ซีซี
เส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกสูบ x ระยะชัก 83.5 มิลลิเมตร x 91.2 มิลลิเมตร
อัตราส่วนการอัด 13.0 : 1
กำลังสูงสุด 121 กิโลวัตต์ (165 แรงม้า) ที่ 6,000 รอบต่อนาที
แรงบิดสูงสุด 213 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที
การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 15.4 กิโลเมตรต่อลิตร

ระบบส่งกำลัง เป็น Skyactive Drive อัตโนมัติ 6 สปีด ที่มาพร้อมแมน่วลโหมด สามารถควบคุมได้ทั้งที่คันเกียร์ และแพดเดิ้ลชิพ หลังวงพวงมาลัย ซึ่งการทำงานจะดึงคันเกียร์เข้าหาตัวในขณะที่อยู่ในตำแหน่ง D โยกลงเป็นการเพิ่มตำแหน่งเกียร์ และดันขึ้นเป็นการลดตำแหน่งเกียร์ แต่ในการขับขี่เพื่อความสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องโยกเกียร์เข้าหาตัว แต่สามารถใช้แพเดิ้ลชิพในการลดหรือเพิ่มตำแหน่งเกียร์เพื่อเป็นเอนจิ้นเบรกได้เลย ซิ่งเกียร์ตอบสนองการทำงาน หรือการเปลี่ยนของเราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงขึ้นเขาลงเขา มีตำแหน่งโอเวอร์ไดรฟ์ ที่เกียร์ 5 และ เกียร์ 6

ระบบช่วงล่างของ CX-30 ใช้แม็คเฟอร์สันสตรัท (MacPherson Struts) ด้านหน้า และใช้แบบกึ่งอิสระทอร์ชั่นบีม (Torsion beam) ที่ด้านหลัง ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกใน Mazda3 ใหม่

สำหรับการเดินทางทดสอบรถยนต์ MAZDA CX-30 ในครั้งนี้ มีทั้งหมด 3 ช่วง เรามีโอกาสได้สัมผัสที่นั่งทั้ง 3 ที่นั่งก็คือ ที่นั่งผู้โดยสารตอนหลัง ที่นั่งของผู้โดยสารตอนหน้า และที่นั่งของผู้ขับ เรามาดูในความรู้สึกแรกของผู้โดยสารตอนหลัง แม้ขนาดของห้องโดยสารไม่กว้าง และสูงนัก แต่การจัดวางตำแหน่งที่นั่ง CX-30 ก็ทำได้ค่อนข้างดี เบาะนั่งหลังปรับเอนไม่ได้ แต่ก็มีการวางองศาในการเอนเอาไว้ในระดับที่นั่งสบาย มีที่้ท้าวแขนตรงกลาง มีแอร์หลัง แต่ไม่มีช่องเสียบ USB ระบบรองรับด้านหลังเป็นทอร์ชั่น แน่นอนว่าเมื่อวิ่งผ่านเส้นทางที่ขรุขระ ก็จะมีความรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนบ้าง แต่เราว่าใน CX-30 นั้น ถือว่ากระด้างน้อยกว่า MAZDA3

ที่นั่งผู้โดยสารตอนหน้า เบาะนั่งสบาย แม้ว่าจะการปรับตำแหน่งจะใช้เป็นแมน่วล แต่สิ่งหนึ่งที่ถือว่าโดยเด่นก็คือสามารถปรับระดับความสูงต่ำของเบาะ เพื่อให้เข้ากับสรีระของผู้นั่งได้ การจัดวางช่วงล่างหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัททำให้รู้สึกนุ่มนวลกว่าด้านหลัง

สมรรถนะในการขับขี่

การได้เป็นผู้กุมบังเหียนของ MAZDA CX-30 นั้นถือว่าน่าจะเป็นตำแหน่งที่ดีสุด เหตุผลแรกก็คือ CX-30 เป็นรถที่ขับสนุก เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรตอบสนองในการใช้งานได้อย่างเหมาะสม โดดเด่นทั้งในช่วงของการเร่งแซง การเดินทางโดยใช้ความเร็วสูง และแพลทฟอร์มใหม่ก็ช่วยให้ตัวรถมีความมั่นคง การยึดเกาะถนนที่มั่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เป็นทางโค้งขึ้นและลงเขา การควบคุมพวงมาลัยรถที่ถือว่ากระชับ และคมเป็นไปได้อย่างที่เราต้องการ ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเด่นที่มีให้เห็นตั้งแต่ในมาสด้า3 เจนใหม่ที่เราเคยขับกันไปก่อนหน้านี้

นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีที่ชือว่า ระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่อัจฉริยะขั้นสูง G-Vectoring Control Plus (GVC Plus) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มเสถียรภาพในการเลี้ยวโดยการใช้เบรกเพื่อเพิ่มการควบคุมการหันเหของรถ นอกเหนือจากการควบคุมเครื่องยนต์แบบเดิมด้วย GVC

หลักการมันก็คือ เมื่อผู้ขับขี่ขับรถออกจากโค้งโดยคืนพวงมาลัยกลับไปที่ตำแหน่งกึ่งกลาง GVC Plus จะเพิ่มแรงเบรกเพียงเล็กน้อยที่ล้อหน้าด้านนอก ทำให้เกิดเสถียรภาพซึ่งจะช่วยให้รถกลับมาวิ่งตรงเหมือนเดิมได้ง่ายขึ้น ระบบสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของการหันเห (yaw) การโคลงของตัวรถ (roll) และการกระดกหน้าหลัง (pitch) แม้อยู่ภายใต้แรงเข้าสู่ศูนย์กลางที่มาก

เป็นการเพิ่มเสถียรภาพการทรงตัวของรถจากการหมุนพวงมาลัยอย่างกระทันหัน และการออกจากโค้งที่แม่นยำ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเสถียรภาพการทรงตัวของรถในการหลบหลีกการชนปะทะแบบฉุกเฉิน GVC Plus ให้ความรู้สึกมั่นใจในการควบคุมรถเมื่อเปลี่ยนเลนบนทางหลวงและเมื่อขับบนหิมะหรือพื้นผิวถนนลื่นอื่นๆ

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือเรื่องของการเก็บเสียง ทั้งเสียงเครื่องยนต์ลม และแรงสั่นสะเทือนในด้านหลังจะเห็นว่า เสียงลม และเาียงเครื่องนั้นถือว่าเงียบกว่ารถหลายรุ่นทั้งของมาสด้าเอง และคู่แข่ง อาจมีเสียงสะท้านเข้ามาในรถบ้างเล็กน้อยเมื่อวิ่งผ่านถนนที่ขระขระ แต่โดยรวมถือว่าเงียบดีทีเดียว

อัตตราสิ้นเปลืองน้ำมัน เป็นสิ่งที่เราลองจับกันในช่วงที่ 3 คือ เส้นทางเขาค้อ ไปยังพิษณุโลก เส้นทางนี้ถือว่าเป็นเส้นทางที่มีความสวยงาม ครบเครื่องทั้งเรื่องของทางโค้ง ทางขึ้นเขา ลงเขา รวไปถึงเส้นทางที่ต้องวิ่งเข้าตัวเมือง ระยะทางทั้งสิ้น 109 กม. ซึ่งเราสามารถทำตัวเลขจากคอนซัมชั่นบนแผงหน้าปัดได้ 14.0 กม./ลิตร

ระบบ i-Activsense ที่ใช้ใน CX-30

ALL-NEW MAZDA CX-30 มาพร้อมความปลอดภัยระดับสูงสุดด้วยเทคโนโลยี i-ACTIVSENSE ที่ได้รับการคิดค้นและพัฒนาโดยเน้นการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุมากถึง 12 ระบบ ก็คือ

  • ระบบแสดงภาพ 360 องศา รอบทิศทาง (360 ̊ View Monitor)
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ABSM (Advanced Blind Spot Monitoring)
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic Alert)
  • ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติ MRCC (Mazda Radar Cruise Control)
  • ระบบควบคุมความเร็วและพวงมาลัยตามรถคันหน้า CTS (Cruising & Traffic Support)
  • ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติแบบ Advance หรือ Advanced SBS (Advanced Smart Brake Support)
  • ระบบช่วยเบรกและหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง SBS-R (Smart Brake Support-Reverse)
  • ระบบช่วยหยุดรถเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง SBS-RC (Smart Brake Support-Rear Crossing)
  • ระบบไฟหน้า LED อัจฉริยะ ALH (Adaptive LED Headlamps)
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LAS (Lane-keep Assist System)
  • ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน LDWS (Lane Departure Warning System)
  • ระบบช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ DAA (Driver Attention Alert)

อีกทั้งยังปกป้องทันทีจากอุบัติเหตุด้วยถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง ม่านถุงลมนิรภัย และถุงลมบริเวณหัวเข่าด้านคนขับ รวม 7 ตำแหน่ง

MAZDA CX-30 ถือเป็นรถอีกหนึ่งตัวเลือกของ ครอสโอเวอร์เอสยูวี ที่เข้ามาเสริมทัพให้มีตัวเลือกหลากหลายยิ่งขึ้น แต่คงไม่ใช่แค่ตัวเลือก เนื่องจากมันถือว่าเป็นแพลทฟอร์มของเจนที่ 7 ตัวล่าสุด มันย่อมโดดเด่นกว่ารุ่นพี่ๆ ทั้งหลาย สำหรับท่านที่สนใจเราไปดูราคาค่าตัวของรถ โดย CX-30 มีทั้งหมด 3 รุ่นคือ รุ่น 2.0 C ราคา 989,000 บาท รุ่น 2.0 Sราคา 1,099,000 บาท และรุ่น 2.0 SP ราคา 1,199,000 บาท