สำหรับ MG ZS เป็นรถยนต์ไซส์ซับคอมแพ็ค SUV ที่เปิดตัวออกมาด้วยค่าตัว 6 แสนปลายๆ ไปจนถึงตัวท็อปที่ 7 แสนปลายๆ จึงทำให้เป็นที่จับตามองของคนที่ชื่นชอบรถประเภทนี้ ทว่ามีงบที่จำกัด แน่นอนว่า ZS กระโดดไปดึงลูกค้าที่มีงบซื้อรถเก๋งหรือซับคอมแพ็คคาร์ ค่าตัวใกล้เคียงกันอย่างไม่ต้องสงสัย สำหรับตลาดรถ ฉบับนี้เราจะไปดูความน่าใช้ของ MG ZS กันว่าจะมีความน่าใช้ แค่ไหนกับราคานี้ ตามคำพูดที่ว่า “ของถูกและดีไม่มีในโลก” หรือเปล่า
รูปโฉมที่หล่อเหลา เด่นด้วยระบบ “i-SMART”
MG ZS เปิดตัวมาด้วยรูปโฉมที่โดดเด่น สวยงาม ใส่ความสปอร์ต และที่สำคัญหล่อเหล่าตามสไตล์รถ SUV ที่มีพิกัดในการ “ลุย” มากกว่ารถสไตล์เก๋ง นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นด้วยเรื่องของความสะดวกสบายจากระบบอัจฉริยะ i-SMART ที่สามารถรองรับการสั่งการด้วยเสียงภาษาไทยครั้งแรก ตามที่มีการโฆษณาก่อนหน้านี้ ซึ่งก็มีการใช้งานที่สะดวกสบาย และง่ายสำหรับสั่งการด้วยเสียงมากยิ่งขึ้น แต่เราก็อาจจะต้องมีการเรียนรู้วิธีการสั่งการ และคำสั่งที่จะทำให้มีการพูดโต้ตอบของระบบ “i-SMART” ในรถ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก อาจมีข้อจำกัดบางประการเช่นการสั่งเปิดซันรูฟหลังคารถ ระบบจะเปิดให้อัตโนมัติทั้งบาน คือถ้าต้องการเปิดเพียงแต่แง้มๆ หรือครึ่งบานก็อาจจะต้องลงมือเปิดตัวตัวเอง
นอกจากนี้ MG ZS ยังมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายที่อื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นแบบสปอร์ตควบคุมเครื่องเสียงและปุ่มรับ-วางสายโทรศัพท์ด้วยปลายนิ้วสัมผัส
ปุ่มสตาร์ท และยังสามารถรองรับการเชื่อมต่อไร้สายผ่านบลูทูธ พร้อมยูเอสบี (USB) นอกจากนี้ ยังมั่นใจยิ่งขึ้นด้วยกล้องมองหลังและเซ็นเซอร์ถอยหลัง5ถือว่าให้มาค่อนข้างครบทีเดียว
เครื่องยนต์ กับเกียร์ไม่ต้องคาดหวังมาก
สิ่งที่ทำให้ MG ZS ดูธรรมดาไปหน่อย ก็คือเรื่องของต้นกำลัง กับระบบส่งกำลัง ซึ่งใต้ฝากระโปรงของ ZS ใช้ระบบเครื่องยนต์เบนซิน DOHC VTi-TECH 4 สูบ 1.5 ลิตร ที่เรียกม้าออกมาใช้งานได้ 114 ตัวที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 150 นิวตัน-เมตรที่ 4,500 รอบต่อนาที โดยร่วมกับระบบส่งกำลังจากเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด แบบทอร์คคอนเวอเตอร์ แต่ก็สนุกสนานด้วย Manual Mode ในการขับด้วยโหมดปรกติดูเหมือนว่า ช่วงเกียร์ต้นๆ หลังจากออกตัว จะความเร็วในการเดินทางนั้นรอบที่ใช้ดูจะสูงไปหน่อย อาจเป็นเพราะการเซ็ตอัตราทดเกียร์ระหว่าง 1 มา 2 นั้นห่าง และถ้าไปดูตัวเลขอัตราทดเกียร์ระหว่าง 3 กับ ก็ต่างกันพอสมควร ตำแหน่งโอเวอร์ไดรฟ์ที่เกียร์ 4 จะเซ็ตมาให้ประหยัด การขับเดินทางไกลเกียร์ลงตำแหน่งโอเวอร์ไดรฟ์แล้วนั่นแหละครับจะใช้รอบไม่สูง ถ้าคิ๊กดาวน์เกียร์ตัดลงมาบ่อยๆ หรือต้องการเร่งแซงก็ดูเหมือนว่าจะกินน้ำมันหน่อย
ความสนุกสนานบนท้องถนนยังมีเรื่องของพวงมาลัย และการบังคับควบคุม พวงมาลัยไฟฟ้า แบบที่เขาเรียกว่า “Flat Bottom” มีโหมดให้เลือกปรับได้ 3 ระดับคือ Comfort, Normal และ Sport ซึ่งถ้าเราใช้โหมด Comfort พวงมาลัยจะเบาแรง แต่เมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้นระบบก็จะปรับให้หนืดเพิ่มขึ้นอีกระดับ ก็จะมาเป็น Normal โดยอัตโนมัติ และถ้าใช้โหมด Normal ก็จะปรับให้เป็น Sport ซึ่งเป็นโหมดสูงสุดของพวงมาลัย ซึ่งการบังคับควบคุมก็ถือว่า ZS ทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นช่วงบังคับควบคุมระหว่างโค้ง และช่วงทางตรงความเร็วสูง ก็อยู่ในมาตรฐานที่ดี โดยช่วงล่างด้านหน้าเป็นอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัท หลังทอร์ชั่นบีม
มาถึงระบบความปลอดภัยเช่นเดียวกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ มีระบบโครงสร้างตัวถังนิรภัย FSF (Full Space Frame) เทคโนโลยีปกป้องทุกชีวิตในห้องโดยสาร และระบบ Synchronized Protection System 9 ระบบ ประกอบด้วย ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-lock Braking System) พร้อมระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบเสริมแรงเบรกด้วยอิเล็กทรอนิกส์ EBA (Electronic Brake Assist) ระบบควบคุมการทรงตัว SCS (Stability Control System) ระบบควบคุมการเบรกในขณะเข้าโค้ง CBC (Curve Brake Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และควบคุมการลื่นไถล TCS (Traction Control System) ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน HAS (Hill Start Assist System) ระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยาง TPMS (Tire Pressure Monitor System) ระบบสัญญาณไฟแจ้งเตือนเมื่อมีการเบรกฉุกเฉิน ESS (Emergency Stop Signal) ตลอดจนถุงลมนิรภัยคู่หน้า ถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านถุงลมนิรภัยรวมทั้งหมด 6 จุด
MG ZS เป็นรถที่อาจจะไม่โดดเด่นเรื่องของสมรรถนะ แต่สำหรับคนที่บอกว่าไม่สนใจเรื่องความแรง เพราะปรกติก็ขับรถไม่เน้นความเร็วสูงอยู่แล้ว และยิ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ รุปแบบของรถที่โดนใจ สำคัญที่สุดก็เรื่องราคาที่จ่ายไหว ก็คงตัดสินใจเป็นเจ้าของได้ไม่ยาก โดย MG ZS ออกจำหน่ายทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น C ราคา 679,000 บาท รุ่น D ราคา 729,000 บาท และ รุ่น X ราคา 789,000 บาท ชอบก็ชมตัวจริงกันได้บนโชว์รูมครับ