HYUNDAI IONIQ EVรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัย
HYUNDAI IONIQ EV รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่สั่งตรงมาจากเกาหลี นับเป็นรถยนต์รุ่นแรกของโลก ที่มีจำหน่ายในทั้ง 3 รูปแบบระบบขับเคลื่อนใน 1 รุ่น ได้แก่ ไฮบริด, ปลั๊กอิน ไฮบริด และอีวี ซึ่งมีจุดประสงค์ในการออกแบบคือ เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษที่ต่ำที่สุด หรือปราศจากมลพิษ รักสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ยังคงไว้ซึ่งการออกแบบที่มีความสวยงาม ทันสมัย อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีการขับขี่, การเชื่อมต่อ และเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย และแน่นอนว่า เราจะลองไปสัมผัสเทคโนโลยีที่จับต้องได้นี้กัน แม้ระยะทางในการทดลองขับไม่ไกลมากนัก แต่ในระยะทางไม่กี่สิบกิโลเมตร เราก็สามารถทดสอบความสามารถ และเทคโนโลยีที่ใส่มาให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทีเดียว
ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องการทดสอบ เรามาทำความรู้จักกับฮุนได ไอออนิก กันก่อน หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อกันนัก เพราะที่ผ่านมา ฮุนไดเอง ก็มีรถที่โดดเด่น และมียอดจำหน่ายสูงอย่าง ฮุนได เอช-วัน ซึ่งเป็นคนละลักษณะกับ ไอโอนิก ซึ่งการออกแบบภายนอกจะเน้นที่ปัจจัยหลัก 2 อย่าง คือ เทคโนโลยี และประสิทธิภาพ ทำให้มีบุคลิกของความเป็นรถยนต์แห่งอนาคต รูปทรงตัวรถเป็นแบบรถแฮ็ทช์แบ็กทรงสปอร์ต มาพร้อมเส้นสายที่พลิ้วไหว รวมถึงการออกแบบตัวถังส่วนต่างๆเช่น ช่องดักลมที่ล้อคู่หน้า, สปอยเลอร์ด้านหลัง, ดิฟฟิวเซอร์ ชายล่างประตูทั้งสี่บาน แผ่นปิดใต้ท้องรถ รวมถึงล้ออัลลอย ทั้งหมดนี้ ทำให้อากาศสามารถไหลผ่านตัวรถได้อย่างสะดวกและลื่นไหลตามหลักอากาศพลศาสตร์ ด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานที่ต่ำเพียง 0.24 และยังรวมถึงการลดน้ำหนักตัวรถ ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาอย่างอลูมิเนียมในการผลิตฝากระโปรงหน้า และฝากระโปรงท้าย ทำให้สามารถลดน้ำหนักลงไปได้ถึง 12.6 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับเหล็กทั่วไป
HYUNDAI IONIQ เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรุ่นที่นำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราก็เป็นรุ่น EV อย่างเดียว ดังนั้น กระจังหน้าจึงถูกออกแบบในลักษณะปิดทึบ เนื่องจากไม่ต้องใช้งานเพื่อการระบายความร้อนเครื่องยนต์ ด้วยสีเทาเข้ม ไฟส่องสว่างขณะขับขี่เวลากลางวัน ไฟหน้าและไฟท้ายเป็นแบบ LED บริเวณชายกันชนด้านหน้าและด้านหลัง รวมทั้งชายประตูทั้ง 4 บาน ถูกตกแต่งด้วยสีทองแดง ที่สื่อถึงความเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
ภายในถูกออกแบบโดยเน้นถึงความเป็นรถแห่งอนาคต ด้วยแนวคิด ‘Purified High-Tech’ ที่เน้นถึงความเรียบง่าย ลื่นไหล แต่มีความปราณีต และใช้งานง่าย เน้นการใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่น้อยที่สุด มีผิวสัมผัสที่เรียบ ลื่น และให้ความรู้สึกสะอาดบริสุทธิ์ วัสดุภายใน เลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ผ้าหลังคาและพรมที่มีส่วนผสมจากต้นอ้อย เพื่อช่วยให้อากาศภายในห้องโดยสาร มีความบริสุทธิ์, สีพ่นตัวถังที่มีส่วนผสมของน้ำมันถั่วเหลือง เพื่อให้มีประกายของเม็ดสีที่สวยงาม, แผงประตูที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ผสมกับผงไม้และหินจากภูเขาไฟ แต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแรงและคุณภาพที่ดี นอกจากนี้ บริเวณช่องแอร์, คอนโซลกลาง, พวงมาลัย และเบาะนั่ง ถูกตกแต่งด้วยสีส้มทองแดง ซึ่งเป็นสีที่เปรียบเสมือนกระแสไฟฟ้าที่เคลื่อนไหวอยู่ภายในรถยนต์ ได้แรงบันดาลใจจากทองแดงที่อยู่ในคอนดักเตอร์ของระบบไฟฟ้า
หลังจากที่เราปลดล็อกรถด้วยระบบ Smart Entry ระบบ Welcome Function จะทำงาน ด้วยการสั่งให้ไฟหน้าและไฟท้ายส่องสว่าง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยขณะจอดรถในที่มืดหรือยามค่ำคืน และเมื่อผู้ขับขี่เปิดประตูรถ เบาะที่นั่งคนขับ จะปรับเลื่อนถอยหลังอัตโนมัติ เพื่อให้เข้าสู่ตำแหน่งที่นั่งขับขี่ได้อย่างสะดวกสบาย เบาะที่นั่งคนขับ ปรับได้ด้วยระบบไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมที่ดันหลังแบบไฟฟ้า (Lumbar Support) ช่วยลดอาการเมื่อยล้าขณะขับขี่ นอกจากนี้ ยังมีระบบระบายอากาศสำหรับเบาะคนขับ และผู้โดยสารตอนหน้าอีกด้วย
ภายในห้องโดยสาร มีความกว้างขวางและสะดวกสบาย โดยเฉพาะที่นั่งของผู้โดยสารตอนหน้า ซึ่งมีความโปร่งและกว้างขวางเป็นพิเศษ เนื่องจากระบบเกียร์ ถูกออกแบบให้เป็นแบบระบบปุ่มกด หรือ shift by wire ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บริเวณคอนโซลกลาง ซึ่งผู้ขับขี่ สามารถเลือกเปลี่ยนเกียร์ได้ตามต้องการเพียงปลายนิ้วสัมผัส นอกจากนี้ยังมีระบบเบรคมือไฟฟ้าพร้อมระบบ Auto Hold ที่ช่วยหยุดรถชั่วขณะในสภาพการจราจรติดขัด และระบบ wireless charging ที่สามารถชาร์จแบตเตอรีโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ เพียงวางโทรศัพท์บริเวณช่องชาร์จด้านซ้ายของปุ่มเลือกตำแหน่งเกียร์
มาถึงระบบความบันเทิง สามารถควบคุมได้ผ่านหน้าจอระบบสัมผัสขนาด 5 นิ้ว ที่สามารถเลือกฟังก์ชันเพื่อความบันเทิงได้ตามต้องการ เช่น ระบบวิทยุ พร้อมระบบเชื่อมต่อบลูทูธ, ช่องต่อระบบ USB และ AUX
หน้าปัดแสดงการทำงานของระบบต่างๆบริเวณคนขับ เป็นหน้าปัดความละเอียดสูงขนาด 7 นิ้ว แบบ TFT ที่แสดงข้อมูลพื้นฐานต่างๆของรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ระยะทางที่สามารถวิ่งได้ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง, ระดับพลังงานของแบตเตอรี่ รวมถึงข้อมูลอื่นๆของตัวรถที่จำเป็น ซึ่งผู้ขับขี่ สามารถเลือกดูได้ผ่านปุ่มควบคุมบนพวงมาลัย ซึ่งหน้าปัดนี้ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลได้ ตามรูปแบบการขับขี่ โดยผู้ขับขี่ สามารถเลือกรูปแบบการขับขี่ได้ ผ่านปุ่ม ‘drive mode’ บริเวณคอนโซลกลาง ซึ่งมีให้เลือกทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ Eco, Normal และ Sport
ในโหมด Eco หน้าปัดจะแสดงมาตรวัดความเร็วในรูปแบบอนาล็อก เช่นเดียวกับมาตรวัดความเร็วแบบรถยนต์ปกติ และแถบสีเขียวบริเวณตัวเลขความเร็ว พร้อมไฟแสดงสถานะโหมด Eco สีเขียว
ในโหมด Normal หน้าปัดจะแสดงมาตรวัดความเร็วในรูปแบบอนาล็อก เช่นเดียวกับมาตรวัดความเร็วแบบรถยนต์ปกติ จากแถบสีเขียวในโหมด Eco จะถูกเปลี่ยนเป็นแถบสีเทา และไม่มีไฟแสดงสถานะโหมด Normal
ในโหมด Sport หน้าปัดจะถูกเปลี่ยนจากมาตรวัดความเร็ว เป็นมาตรวัดแสดงสถานะกำลังการขับเคลื่อนของรถจาก 0 ถึง 100 เปอร์เซนต์ ในรูปแบบอนาล็อกพร้อมแถบสีแดง ตรงกลางจะแสดงความเร็วแบบตัวเลขดิจิตอล ที่จะถูกไล่ลำดับขึ้นไปตามความเร็วของรถยนต์
ระบบปรับอากาศภายในรถยนต์เป็นแบบ Dual Zone ที่เลือกปรับอุณหภูมิแยกอิสระสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร และเพื่อการขับขี่ที่สะดวกสบาย ควบคู่กับการลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ฮุนได ไอออนิก อิเล็กทริก ยังมีระบบปรับอากาศที่ผู้ขับขี่สามารถเลือกให้ลม ออกจากช่องปรับอากาศเฉพาะผู้ขับขี่อย่างเดียวได้ เพียงกดปุ่ม ‘driver only’ ที่บริเวณแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ เท่านี้ ก็จะช่วยลดภาระการทำงานของระบบปรับอากาศ และช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย
สำหรับระบบขับเคลื่อนของ ฮุนได ไอออนิก อิเล็กทริกนั้น เป็นการขับเคลื่อนโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าชนิดซิงโครนัสแม่เหล็กถาวร ที่ให้พละกำลังสูงสุด 120 แรงม้า (88kW) แรงบิดสูงสุด 295 นิวตัน-เมตร เชื่อมต่อผ่านระบบเกียร์แบบ single-speed ที่สามารถเลือกตำแหน่งเกียร์ผ่านปุ่มกดบริเวณคอนโซลกลาง และสามารถพารถยนต์ไปที่ความเร็วสูงสุดที่ 165 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนนั้น เป็นแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออน โพลิเมอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพการชาร์จไฟที่ดี และมีหน่วยความจำรอบการชาร์จไฟที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่แบบนิกเกิล เมทัล ไฮดราย สำหรับในฮุนได ไอออนิก อิเล็กทริกนั้น เป็นแบตเตอรี่ขนาด 28 kWh ที่สามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุดที่ 280 กิโลเมตร ใช้เวลาในการชาร์จไฟแบบปกติอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 25 นาที โดยประมาณ และการชาร์จไฟแบบ quick charge ที่กำลังการชาร์จไฟขนาด 50 kW จะใช้เวลา30 นาที และ 23 นาทีโดยประมาณ ด้วยกำลังการชาร์จไฟขนาด 100 kW โดยแบตเตอรี่นี้ ถูกติดตั้งอยู่ใต้ที่นั่งของผู้โดยสารตอนหลัง แต่ยังคงไว้ซึ่งพื้นที่ที่สามารถบรรจุสัมภาระได้สูงสุดถึง 650 ลิตร
ฮุนได ไอออนิค มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดกับระบบ regenerative braking system ที่สามารถควบคุมได้ด้วยปุ่ม paddle shift บริเวณด้านหลังพวงมาลัย มีทั้งหมด 4 ระดับ โดยแต่ละระดับ จะเป็นระดับการนำพลังงานไฟฟ้ากลับเข้าสู่แบตเตอรี่จากมากไปน้อย เพียงผู้ขับขี่กดปุ่ม paddle shift รถยนต์จะลดความเร็วโดยอัตโนมัติ ระบบเบรกจะทำงานเพื่อให้ระบบ regenerative braking system ทำงาน และนำกระแสไฟกลับเข้าสู่แบตเตอรี่ เพื่อช่วยให้มีระยะทางการวิ่งที่ยาวขึ้น
ระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท ผลิตจากอลูมิเนียม ช่วงล่างด้านหลังแบบทอร์ชันบีม ถูกปรับแต่งเพื่อให้มีการขับขี่ที่นุ่มนวล มั่นใจ และสะดวกสบาย ส่วนเรื่องระบบความปลอดภัยที่ช่วยให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ปลอดภัยในทุกการเดินทาง ด้วยระบบ Blind Spot Detection ที่จะทำหน้าที่ตรวจจับรถในจุดอับสายตาขณะขับขี่ โดยทำงานควบคู่กันกับระบบ Lane Change Assist ที่จะช่วยตรวจจับรถในเลนด้านข้างในขณะที่ผู้ขับขี่กำลังจะเปลี่ยนเลน และยังทำงานร่วมกับระบบ Rear Cross Traffic Alert ในขณะที่ผู้ขับขี่กำลังจะถอยรถออกจากที่จอดรถ ระบบจะตรวจจับความเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือคนเดินเท้า หากมีวัตถุเคลื่อนไหวบริเวณด้านหลังรถ ระบบจะแจ้งเตือนผู้ขับขี่ เพื่อความปลอดภัยขณะถอยรถ
นอกจากนี้ ยังมีระบบ Lane Departure Warning (LDW) โดยระบบ จะใช้กล้องที่อยู่บริเวณด้านบนตรงกลางของกระจกบังลมหน้า ในการตรวจจับเส้นแบ่งช่องการจราจร หากรถกำลังเคลื่อนออกจากช่องจราจร ระบบจะส่งเสียงเพื่อเตือนผู้ขับขี่ ให้นำรถกลับเข้าสู่ช่องจราจรเดิม ระบบ Lane Keeping Assist (LKA) ที่ใช้กล้องตัวเดียวกัน ในการตรวจจับเส้นแบ่งช่องการจราจร เมื่อรถกำลังเคลื่อนออกจากช่องจราจร ระบบจะสั่งการให้หักพวงมาลัยกลับมาในช่องจราจร และระบบ Smart Cruise Control (SCC) หรือระบบควบคุมความเร็วอัจฉริยะ โดยระบบจะทำงานโดยใช้เรดาร์ที่อยู่บริเวณโลโก้บนกระจังหน้า ในการรักษาระดับความเร็วแบบแปรผัน ตามความเร็วของรถที่อยู่ด้านหน้า และผู้ขับขี่ ยังเลือกระดับการรักษาระยะห่างจากรถที่อยู่ด้านหน้าได้อีกด้วย เพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัยขณะขับขี่
ระบบ Forward Collision Warning (FCW) ที่ช่วยเตือนผู้ขับขี่ หากผู้ขับขี่ ขับรถเข้าใกล้รถคันหน้ามากเกินไป และถ้าระบบตรวจพบว่าผู้ขับขี่ ไม่เหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ ระบบจะส่งเสียงเพื่อเตือนผู้ขับขี่ เพื่อให้ผู้ขับขี่หยุดรถก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ และระบบ Autonomous Emergency Braking System (AEB) ที่จะช่วยเบรกรถอัตโนมัติ ในกรณีที่ผู้ขับขี่ ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองในขณะที่รถกำลังเข้าใกล้รถคันข้างหน้า หรือในกรณีที่คนเดินถนนเดินตัดผ่านหน้ารถในระยะกระชั้นชิด กล้องบริเวณด้านบนกระจกบังลมหน้า และเรดาร์บริเวณกระจังหน้า จะทำหน้าที่ตรวจจับวัตถุและคนเดินถนน และจะสั่งการให้รถหยุดโดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
จะเห็นว่าเทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ใน ฮุนได ไอโอนิก นั้นมีทั้งเรื่องของความสะดวกสบาย และความปลอดภัยที่ใส่มาให้ค่อนข้างเยอะ แต่ไม่ใช่เพียงแค่เยอะอย่างเดียว คุณภาพ และความแม่นยำของระบบต่างๆ นั้นถือว่ามีความละเอียดสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเรด้า การตรวจจับรถคันหน้า รวมทั้งการทำงานของระบบ Lane Keeping Assist ก็ทำงานได้อย่างว่องไวนุ่มนวล ส่วนเรื่องของอัตราร่าเร่งก็ถือว่าโดดเด่นตามลักษณะของรถที่ทำงานด้วยมอเตอร์ เป็นรถที่ครบเครื่อง และน่าใช้ แต่หลายคนอาจจะมองว่ามีความยุ่งยางในเรื่องของการเติมพลังงานหน่อย เนื่องจากความพร้อมของสถานีบริการชาร์จกระแสไฟฟ้าในบ้านเรายังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ อาจไม่เหมาะกับการใช้รถคันเดียว ในราคาค่าของ ฮุนได ไอออนิค อิเล็กทริก ที่ 1,749,000 บาท ถือว่าราคาน่าสนใจเมื่อเทียบกับเทคโนโลยี และความปลอดภัยที่ให้มา