ในขณะที่กระแสรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง แต่ก็มีเหตุผลที่จะสามารถทัดทานการก้าวเข้าสู่ยุครถยนต์พลังงานไฟฟ้าสำหรับบ้านเรา ไมว่าจะเป็นเรื่องความพร้อมในการสร้างสถานีรองรับ ผลกระทบของมลพิษด้านอื่น และที่สำคัญพลังงานไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ซึ่งปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ท้ายที่สุดก็ต้องหาแนวทางแก้ไข แต่การพัฒนาเทคโนโลยีในเรื่องของพลังงานทดแทนก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ในส่วนอื่นๆ ที่จะเข้ามาแทนที่ฟอสซิลยังมีให้เห็น ตัวอย่างดังเช่นที่เราหยิบมาพูดกันนี่เอง
“Bio Hydrofined Diesel”
เริ่มต้นเรื่องเทคโนโลยีกันด้วยเชื้อเพลิงประเภท “ไบโอดีเซล” อย่างที่เราทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว สำหรับรถบรรทุกทั้งหลายนั้น ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเชื้อเพลิงก็คือน้ำมันดีเซลที่ได้จากการกลั่นจากธรรมชาติ เทคโนโลยีทั้งหลายจึงต้องมีการพัฒนาให้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเชื้อเพลิงที่เครื่องยนต์ใช้ แต่เทคโนโลยีไม่ได้จำกัดเพียงแค่การพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูง และการเผาไหม้ที่หมดจดอย่างเดียว ในส่วนของเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ยังต้องมีการพัฒนาให้ก้าวล้ำเหมาะกับเครื่องยนต์ยุคใหม่ที่มีขีดความสามารถมากยิ่งขึ้นด้วย
น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากฟอสซิลกำลังหมดไป การหาสิ่งทดแทนจึงเริ่มขึ้น ซึ่งเชื้อเพลิงตัวหนึ่งที่บ้านเรารู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ “ไบโอดีเซล” ที่ได้มาจากพืช แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้งาน และไอเสียที่ปล่อยมาก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปมากนัก
แต่จากการวิจัย ตรวจสอบและการทดสอบในประเทศญี่ปุ่น มีเชื้อเพลิงที่จะเข้ามาช่วยทดแทนอีกตัวที่เรียกว่า “Bio Hydrofined Diesel” หรือ “BHD” ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทดแทนสังเคราะห์ดีเซล ผลิตโดยใช้วัตถุดิบน้ำมันพืชและผ่านกระบวนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยการเติมไฮโดรเจนจากโรงกลั่นกำมะถันและ “BHD” ที่ปราศจากสารอะโรเมติกส์ ซึ่งผลที่ออกมาชี้ให้เห็นว่ามีปริมาณไฮโดรคาร์บอน และคาร์บอนมอนอกไซด์ จากท่อไอเสีย น้อยลง เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงดีเซล และไบโอดีเซลทั่วไป
“Dimethyl Ether”
เชื้อเพลิงอีกชนิดที่เราจะพูดถึงก็คือ ไดเมทิลอีเทอร์ (Dimethyl Ether: DME) หรือที่เรียกชื่อย่อว่า “DME” มีสูตรทางเคมี คือ C2H6O เป็นสารออกซิเจนเนตประเภทอีเทอร์ ซึ่งมีสถานะเป็นก๊าซที่ไม่มีสีที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ ซึ่งคุณสมบัติของดีเอ็มอีจะคล้ายคลึงกับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ซึ่งมีคุณสมบัติ จุดเดือด ณ ความดันบรรยากาศ ที่ -25 องศาเซลเซียส จึงสามารถ ทำให้อยู่ในรูปของของเหลวได้ง่าย ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต “DME” ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือชีวมวลที่เรียกว่า “Coalbed Gas” เป็นเชื้อเพลิงที่เผาไหม้แล้วสะอาด ไม่ก่อให้เกิดเขม่าและไม่มีซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOX) ลดการปลดปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ การนำเอา DME มาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เนื่องจากดีเอ็มอีมีค่าซีเทนสูง ดังนั้น จึงสามารถนำ DME มาผสมกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลได้โดยต้องมีการปรับแต่งเครื่องยนต์เล็กน้อย โดยอัตราส่วนผสมของดีเอ็มอีสูงสุดที่จะไม่ทำให้เชื้อเพลิงผสมที่ได้มีความหนืดตัวจนเกินไป ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายได้มีการคิดค้นพัฒนารถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้ “DME” เป็นเชื้อเพลิง ตัวอย่างเช่น นิสสัน ฮีโน่ อีซูซุ มิตซูบิชิ ในประเทศญี่ปุ่น และวอลโว่ ในประเทศสวีเดน
สำหรับประเทศที่เป็นผู้ผลิตดีเอ็มอีรายใหญ่ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และบราซิล นอกจากนี้ อีกหลายประเทศก็ได้มีการสร้างโรงงานผลิตดีเอ็มอีเพิ่มขึ้นอีกไม่ว่าจะเป็น อียิปต์ อินโดนีเซีย อินเดีย และอิหร่าน
เชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ยังมีอีกมากมายหลายชนิด ซึ่งมีการพัฒนา ทั้งเครื่องยนต์ และเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับความต้องการ และข้อจำกัด รวมไปถึงเมื่อโลกเราต้องการลดไอเสียและมลภาวะที่สูงขึ้นด้วย การพัฒนาก็ยังคงต้องเดินหน้า เพื่อค้นหาสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ใช่แต่เฉพาะเชื้อเพลิงที่เราพูดถึงเพียงอย่างเดียว

F?rarl?s sopbil.
Best. av Anna Arbius
Bild: Cicci Jonson, Bilduppdraget