โตโยต้าสนับสนุนการขับเคลื่อน ในกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว

โตโยต้าสนับสนุนการขับเคลื่อนที่
หลากหลายรูปแบบสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
และพาราลิมปิก  ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว
รวมถึงยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหลายรุ่น

 

โตโยต้าสนับสนุนการขับเคลื่อน ในกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 โดยประมาณร้อยละ 90 ของยานพาหนะที่โตโยต้าจะสนับสนุนนั้น เป็นยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดระดับไอเสียจากยานพาหนะให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม

โตโยต้าได้เริ่มพัฒนายานพาหนะรุ่นพิเศษ พร้อมทั้งสนับสนุนยานพาหนะที่พัฒนาสำหรับใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก
ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว มาตั้งแต่ต้น เพื่อมอบทางเลือกในการขับเคลื่อนที่หลากหลายให้กับผู้คน
โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) ผู้สนับสนุนระดับโลกของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ประกาศในวันนี้ว่า บริษัทจะให้การสนับสนุนยานพาหนะ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหลากหลายรุ่น ซึ่งประกอบด้วยยานพาหนะรุ่นพิเศษ และยานพาหนะ ที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อใช้ในการสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว (โตเกียว 2020) ทั้งนี้ โตโยต้า และคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก จะจัดเตรียมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งลดระดับไอเสียจากยานพาหนะที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว โตโยต้า จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในการขับเคลื่อน และ / หรือ ยานพาหนะ ทั้งหมดเป็นจำนวน 3,700 คัน โดยยานพาหนะที่โตโยต้าจะสนับสนุนอย่างเป็นทางการกว่าร้อยละ 90 นั้นเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งประกอบไปด้วยรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicles – HEV) , รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles – FCEV) เช่น โตโยต้า มิไร ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน , รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicles – PHEV) , โตโยต้า พรีอุส พีเอชวี (หรือที่รู้จักกันในชื่อ พรีอุส ไพร์ม ในบางประเทศ) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles – BEV) ตลอดจน “ยานพาหนะสำหรับเคลื่อนย้ายผู้โดยสาร” (Accessible People Mover – APM) และยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ (e-Palette) รวมถึง โตโยต้า คอนเซปต์-ไอ (TOYOTA Concept-i) ซึ่งยานยนต์ที่โตโยต้าให้การสนับสนุนทั้งหมดนี้จะมอบการขับเคลื่อนที่หลากหลายและพิเศษไม่เหมือนใครระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว โดยในจำนวนยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่โตโยต้าสนับสนุนนั้น จะประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงประมาณ 500 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ไฟฟ้าอีกประมาณ 850 คัน นับได้ว่าเป็นการสนับสนุนยานพาหนะชุดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเลยก็ว่าได้

ในจำนวนผลิตภัณฑ์เพื่อการขับเคลื่อน และ / หรือ ยานพาหนะ ทั้งหมดราว 3,700 คัน ที่โตโยต้าจะสนับสนุนสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียวนั้น ประกอบด้วยยานพาหนะที่ใช้สนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นทางการ 2,700 คัน โดยยานพาหนะเหล่านี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถสัญจรไปมาในแต่ละสถานที่ในช่วงระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกได้อย่างสะดวกสบาย ที่สำคัญคือรถยนต์เหล่านี้เป็นรุ่นที่มีการจำหน่ายจริงให้กับผู้ที่สนใจด้วย เช่น โตโยต้า มิไร เป็นต้น ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการคำนวณออกมาแล้วว่า โดยเฉลี่ยแล้ว รถยนต์เหล่านี้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 80 กรัม/กิโลเมตร*1 ในช่วงระหว่างการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการใช้รถยนต์รุ่นปกติที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลในขนาดและปริมาณเดียวกัน อีกทั้งเมื่อผนวกกับการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน และ / หรือ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าอื่นๆ ที่โตโยต้าได้พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว ก็อาจคาดการณ์ได้ว่าความพยายามในครั้งนี้จะช่วยลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์รุ่นพิเศษหรือรถยนต์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการจัดการแข่งขันในครั้งนี้โดยเฉพาะ

 

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและความเสียหายหรือการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขัน รถยนต์รุ่นที่มีการจำหน่ายจริงทั้งหมดซึ่งใช้อำนวยความสะดวกในการสัญจรให้กับเจ้าหน้าที่ภายในงานจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซึ่งพัฒนาขึ้นโดยโตโยต้า ได้แก่ เทคโนโลยี “Toyota Safety Sense” และระบบ “Lexus Safety System +” นอกจากนี้ รถยนต์รุ่นที่มีการจำหน่ายจริงแทบทุกคันที่ใช้ในงาน จะมีการติดตั้งระบบโซนาร์ตรวจจับอัจฉริยะ (Intelligent Clearance Sonar – ICS) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรกรถในกรณีที่มีการเผลอเหยียบคันเร่งผิดพลาด

นอกจากการสนับสนุนขบวนรถยนต์เพื่อใช้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการแล้ว โตโยต้ายังจะสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกด้วยยานพาหนะอื่นๆ ได้แก่ รถประจำทางพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง “โซรา” (Sora) เพื่อช่วยด้านการขนส่งมวลชน รวมถึงยานพาหนะสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งจะช่วยยกตัวผู้โดยสารเข้าสู่ที่นั่ง หรือมีการติดตั้งทางลาดไว้กับยานพาหนะเพื่อช่วยให้ผู้โดยสารที่นั่งรถเข็นสามารถขึ้นรถได้ทางประตูที่อยู่ด้านหลังของตัวรถ ตลอดจนยานพาหนะรุ่นอื่นๆ เช่น รถยกที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งพัฒนาและจัดจำหน่ายโดยบริษัท โตโยต้า อินดัสทรีส์ คอร์ปอเรชั่น

 

หลักการของโตโยต้า สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว

 

โตโยต้ามีหลักการสำคัญอยู่ 3 ข้อในการสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว นั่นคือ (1) การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน (Mobility for All) หรือ การส่งเสริมให้ทุกคนมีอิสระในการสัญจร (2) ความยั่งยืน (Sustainability) คือการมุ่งส่งเสริมสังคมที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน (เพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย) และ (3) การสนับสนุนด้านการคมนาคมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก โดยนำเอาระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System – TPS) มาปรับใช้ ทั้งนี้ ด้วยหลักการทั้ง 3 ข้อข้างต้น โตโยต้ามีเป้าหมายที่จะไปให้ไกลกว่าแค่การผลิตรถยนต์เพื่อให้ผู้คนได้ใช้งานเท่านั้น แต่ยังต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

โตโยต้า สนับสนุนยานยนต์พลังงานไฟฟ้าหลากหลายรุ่นเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนำเอาระบบการผลิตแบบโตโยต้ามาบูรณาการร่วมกับเทคโนโลยีการขับเคลื่อนต่างๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว ดำเนินไปอย่างราบรื่น พร้อมทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมให้กับผู้ที่มาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ บรรดานักกีฬา ตลอดจนผู้ชมการแข่งขันกีฬา นอกจากนี้ โตโยต้ายังได้พัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนการจัดการแข่งขัน ตลอดจนสร้างสรรค์ประสบการณ์สุดพิเศษให้กับการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างนิยามใหม่ของการขับเคลื่อนในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของโตโยต้าในการท้าทายตนเองเพื่อมอบ “การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” (Mobility for All) ผ่านการนำเสนอทางแก้ไขปัญหาด้านการขับเคลื่อนที่หลากหลาย เพื่อให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว เป็นงานที่มอบประสบการณ์สุดพิเศษไม่เหมือนใครให้กับทุกๆ คน

ยานพาหนะรุ่นหลักๆ ที่โตโยต้าจะสนับสนุนมีดังนี้

 

1) ยานพาหนะที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว

 

   ยานพาหนะสำหรับเคลื่อนย้ายผู้โดยสาร (Accessible People Mover – APM) 

 – โตโยต้าจะจัดให้มี ยานพาหนะสำหรับเคลื่อนย้ายผู้โดยสาร ราว 200 คันเพื่อช่วยเคลื่อนย้ายผู้เข้าชมการแข่งขันที่มีความต้องการพิเศษให้สามารถเดินทางภายในสถานที่จัดการแข่งขันได้อย่างสะดวกสบาย เช่น เดินทางไปยังสนามกีฬาโอลิมปิก และสนามเทนนิสอาริอาเกะ ด้วยการบริการรับ-ส่งผู้เข้าร่วมงานใน “การเดินทางระยะสั้นสู่ปลายทาง” (last one mile) ตลอดจนใช้ในกิจการกู้ภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างการแข่งขัน

 

2) ยานพาหนะรุ่นพิเศษ สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว

 

   ยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ (e-Palette) รุ่นพิเศษสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว

– นี่คือรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้าคันแรกของโตโยต้าซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการ Autono-MaaS*2 โดยเฉพาะ ซึ่งในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว จะมีการนำเอายานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับมาใช้เพื่อสนับสนุนการบริการด้านคมนาคมให้กับเจ้าหน้าที่และนักกีฬา โดยจะจัดสรรให้มียานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับจำนวน 12 คันหรือมากกว่านั้น วิ่งตามเส้นทางที่กำหนดไว้ภายในหมู่บ้านนักกีฬาที่ร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกตลอดเวลา

 

– ยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับจะมีพื้นต่ำและทางลาดไฟฟ้า ดังนั้น เวลาที่รถจอดประจำจุดในแต่ละป้ายที่กำหนดไว้ก็แทบจะไม่มีช่องว่างระหว่างขอบถนนและตัวรถเลย ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับบรรดาผู้โดยสารที่ต้องใช้รถเข็น และช่วยให้การเดินทางในระยะสั้นๆ นั้นเป็นไปอย่างราบรื่น

 

– คาดว่ายานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับจะมีความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติ (สูงถึงระดับ SAE Level 4*3) โดยนอกจากจะมีเจ้าหน้าที่ประจำรถอยู่ในแต่ละคันเพื่อคอยควบคุมการทำงานของระบบการขับขี่อัตโนมัติแล้ว โตโยต้ายังติดตั้งระบบบังคับแบบดิจิทัลเพื่อควบคุมการทำงานโดยรวมในแต่ละคันอีกด้วย

 

<รายละเอียดข้อมูลจำเพาะ>
ยาว / กว้าง / สูง (มม.) 5,255 (ยาว) / 2,065 (กว้าง) / 2,760 (สูง)
จำนวนผู้โดยสาร

รองรับได้สูงสุด 20 คน * (รวมเจ้าหน้าที่ประจำรถ)

*สำหรับผู้โดยสารที่ต้องใช้รถเข็น : รองรับรถเข็นได้สูงสุดถึง 4 คัน  + ผู้โดยสารยืน 7 คน

 

โตโยต้า คอนเซปต์-ไอ (TOYOTA Concept-i) รุ่นพิเศษสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพารา ลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว

– ด้วยการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกให้มีลักษณะโครงร่างสะท้อนเทคโนโลยีขั้นสูงที่มาพร้อมกับความคล่องแคล่วปราดเปรียว (high-tech one-motion silhouette) ทำให้โตโยต้า คอนเซปต์-ไอ เป็นยานยนต์สุดพิเศษที่จะมาสร้างสีสันและความน่าสนใจให้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก โดยผู้ชมจะได้เห็นรถโตโยต้า คอนเซปต์-ไอ ในพิธีการส่งต่อคบเพลิง อีกทั้งยังจะถูกใช้เป็นรถนำสำหรับการแข่งขันวิ่งมาราธอนด้วย

 

– นอกจากการเตรียมรถโตโยต้า คอนเซปต์-ไอ สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกแล้วนั้น โตโยต้ายังจะจัดให้ถนนสาธารณะโดยรอบของ Toyota City Showcase “MEGAWEB” ซึ่งอยู่ในเขต โอไดบะ / โตโยสุ ของกรุงโตเกียว เป็นบริเวณสำหรับการทดลองขับรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีการขับขี่ชั้นสูง ซึ่งก็รวมไปถึงโตโยต้า คอนเซปต์-ไอ ที่มาพร้อมกับความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติ (สูงถึงระดับ SAE Level 4*3) ตลอดจนฟังก์ชั่นล้ำสมัยภายใต้ชื่อ “Agent Conversation” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยให้รถสามารถทำความเข้าใจผู้ขับขี่ ตลอดจนช่วยให้พวกเขาได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ในการเดินทาง และประทับใจไปกับมิติใหม่ของ “ยานยนต์คู่ใจ” แห่งโลกอนาคต

 <รายละเอียดข้อมูลจำเพาะ>
ยาว / กว้าง / สูง (มม.) 4,530 (ยาว) / 1,840 (กว้าง) / 1,480 (สูง)
จำนวนผู้โดยสาร รองรับได้สูงสุด 4 คน

 

3) ยานพาหนะอื่นๆ

 

โตโยต้า มิไร

– จะมีการจัดเตรียมโตโยต้า มิไร ทั้งหมดประมาณ 500 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเดินทางไปยังพื้นที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว

 

ยานพาหนะไฟฟ้าแบตเตอรี่สำหรับใช้ในพื้นที่ทางเดิน

 

– โตโยต้าจะจัดเตรียมยานพาหนะไฟฟ้าแบตเตอรี่ชนิดเคลื่อนที่ด้วยท่ายืนทรงตัวประมาณ 300 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย / เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ในการเคลื่อนที่ทั้งภายในและโดยรอบสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว เช่น สนามกีฬาโอลิมปิก และสนามเทนนิสอาริอาเกะ

 

– นอกจากนี้ โตโยต้ายังจะจัดเตรียมยานพาหนะไฟฟ้าแบตเตอรี่ชนิดเคลื่อนที่ด้วยท่านั่งและเครื่องเชื่อมต่อรถเข็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่นั่งรถเข็นและผู้ที่มีปัญหาด้านการเดิน

 

 <รายละเอียดข้อมูลจำเพาะ>
  ยานพาหนะไฟฟ้าแบตเตอรี่ชนิดเคลื่อนที่ด้วยท่ายืนทรงตัว ยานพาหนะไฟฟ้าแบตเตอรี่ชนิดเคลื่อนที่ด้วยท่านั่ง

เครื่องเชื่อมต่อรถเข็น

 

ยาว / กว้าง / สูง (มม.) 700 / 450 / 1,200 1,180 / 630 / 1,090 540 / 630 / 1,090

ความเร็วสูงสุด

(กม./ชม.)

2,4,6,10 กม./ชม.

(ปรับได้)

2,4,6 กม./ชม.

(ปรับได้)

2,4,6 กม./ชม.

(ปรับได้)

ระยะทาง / ขอบเขต ประมาณ 14 กม. ประมาณ 10 กม. ประมาณ 20 กม.
ระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่

2.5 ชั่วโมง

(เปลี่ยนแบตเตอรี่ได้)

2 ชั่วโมง

(เปลี่ยนแบตเตอรี่ได้)

2.5 ชั่วโมง

(เปลี่ยนแบตเตอรี่ได้)

*1 การคำนวณของโตโยต้า อ้างอิงจากข้อมูลที่อยู่ในคู่มือผลิตภัณฑ์ โดยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดนั้นจะอ้างอิงจากวิธีการคำนวณของโตโยต้าที่ปรากฏในรายงานซึ่งจัดทำ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2013 โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว สำหรับข้อมูลของยานพาหนะบางรุ่นที่มีการปรับปรุงพิเศษเพื่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว นั้น โตโยต้าคำนวณอัตราการใช้เชื้อเพลิงโดยปรับให้สอดคล้องกับระดับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงพิเศษดังกล่าว ข้อมูล ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2019

 

*2 เป็นการผสมของคำว่า “autonomous” และ “mobility as a service” เพื่ออธิบายการให้บริการด้านการขับเคลื่อนของโตโยต้าด้วยยานพาหนะที่ขับเคลื่อนได้โดยไร้คนขับ

 

*3 ศึกษาข้อมูลอ้างอิงของระดับ SAE Level ได้ที่นี่