โตโยต้า และ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนาม พัฒนาต้นแบบ

โตโยต้า และ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ร่วมลงนาม พัฒนาต้นแบบ “พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs)”

นายสุวิทย์ ไชยประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และนายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมมือในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ยกระดับพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน “ชีวพนาเวศ” ภายในโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ สู่การเป็นต้นแบบ “พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs)” ที่จัดการโดยเอกชน โดยมี มร. ทัตสึชิ นิชิโอะกะ อัครราชทูต ประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายด้านความหลากหลายชีวภาพทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ ในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030 (30×30) โดยหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือการขยายขอบเขตการอนุรักษ์ จากแค่พื้นที่คุ้มครองที่จัดการโดยภาครัฐ สู่พื้นที่อนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง ที่จัดการโดยภาคประชาชน และ ภาคเอกชนซึ่งสอดคล้องกับ “พันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า 2050” ในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนควบคู่ไปกับการสร้างสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

ชีวพนาเวศ เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพภายในโรงงานโตโยต้า ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งในด้านการฟื้นฟู การอนุรักษ์ ตลอดจนการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านความหลากหลายชีวภาพแก่สาธารณชน ในการนี้ จึงมีศักยภาพในการเป็น “ต้นแบบพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECM)” จากภาคเอกชนในประเทศไทย โดยนับเป็นแห่งแรกของโตโยต้านอกประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับการรองรับเป็น OECM ต่อจากพื้นที่ 4 แห่งของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา

โตโยต้าคาดหวังว่าศูนย์ฯ ชีวพนาเวศ ภายในโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น ต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคเอกชน ผ่านการส่งต่อองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยให้ครอบคลุมต่อไป