เมืองพัทยา ผนึกกำลัง โตโยต้า และ โอซาก้า แก๊ซ
วางรากฐานการคมนาคมอย่างยั่งยืนแก่เมืองพัทยา
ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบในการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ “Decarbonized Sustainable City”
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายชุนซาคุ นากาอิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอซาก้า แก๊ซ จำกัด ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการการจัดตั้งเมืองที่ยั่งยืนโดยปราศจากมลภาวะ” “Decarbonized Sustainable City” เพื่อร่วมศึกษาและวางรากฐานต้นแบบในการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต โดยนำเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานทางเลือกและระบบพลังงานสะอาดมาทดลองใช้งาน ทั้งในด้านการคมนาคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมี ฯพณฯ นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย และ ดร. ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการ สายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมอีสติน ธนาซิตี้ กอล์ฟ รีสอร์ต กรุงเทพฯ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563
โครงการการจัดตั้งเมืองที่ยั่งยืนโดยปราศจากมลภาวะ “Decarbonized Sustainable City” เป็นโครงการในความร่วมมือ ระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, เมืองพัทยา และ บริษัท โอซาก้า แก๊ซ จำกัด (OG) ในการผลักดันให้เกิด “สังคมการปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์” (Zero-emission Society) โดยดำเนินโครงการนำร่องควบคู่ไปกับการปรับผังเมืองพัทยาเพื่อมุ่งสู่การเป็น “สมาร์ทซิตี้” เพื่อรองรับการเตรียมความพร้อมในการเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)
โดยบริษัท โตโยต้าฯ และ โอซาก้าแก๊ส จะเข้ามาเติมเต็มนโยบายของเมืองฯ ในการวางระบบคมนาคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมานำร่องใช้ในเมืองพัทยา เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน อาทิ การนำเทคโนโลยีการขับเคลื่อนแห่งอนาคต ทั้งรถยนต์พลังงานทางเลือกและรถยนต์พลังงานสะอาด ภายใต้โครงการ “การจัดตั้งเมืองที่ยั่งยืนโดยปราศจากมลภาวะ” มาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะของเมือง ตลอดจนการจัดเตรียมระบบสถานีจ่ายพลังงานทางเลือกประเภทต่าง ๆ อย่างเหมาะสม อาทิ สถานีชาร์จไฟฟ้า หรือ เทคโนโลยีชีวมวล เป็นต้น
ภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ โตโยต้า จะนำรถยนต์พลังงานทางเลือกหลายประเภท อาทิ รถยนต์ไฮบริด (HEV) รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEVs) รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEV) และอื่น ๆ เข้ามาทดลองใช้งานในลักษณะของรถยนต์โดยสารสาธารณะภายในเมืองพัทยาเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชนและนักท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด Eco Tourism ร่วมกับ กลุ่มบริษัทโอซาก้าแก๊ส ที่จะนำเทคโนโลยีพลังงานสะอาด “ก๊าซชีวมวล” ที่ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้อีกด้วย
โดยคาดว่าจะเริ่มโครงการนำร่องภายในช่วงกลางปี พ.ศ. 2564 เพื่อนำผลการศึกษาไปเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนนโยบายด้านพลังงานในระดับประเทศ ตลอดจนมีแผนที่จะศึกษาความคิดเห็นจากผู้ใช้งานจริง ทั้งในส่วนของการขับขี่ การโดยสารรถยนต์ ตลอดจนความต้องการระบบต่าง ๆ มารองรับ เพื่อประกอบการพิจารณาการนำรถยนต์พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมเข้ามาผลิตและแนะนำในประเทศไทย ตลอดจนเป็นการวางรากฐานในการเตรียมความพร้อมในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกในอนาคตอีกด้วย
นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กล่าวว่า “ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบที่อุตสาหกรรมยานยนต์มีต่อสิ่งแวดล้อม โตโยต้า ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเดินทางในทุกรูปแบบ ทั้ง Hybrid Electric Vehicles (HEVs), Plug-in Hybrid Electric Vehicles (PHEVs), BEV และ Fuel Cell Electric Vehicles (FCEVs) ซึ่งอย่างไรก็ดี การจะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงต้องพิจารณาถึงรูปแบบการใช้งานของผู้ใช้รถเป็นหลัก ดังเช่นหลักปรัชญา”ลูกค้าเป็นที่หนึ่งของโตโยต้า” ซึ่งภายใต้โครงการนี้ จะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้รับฟังความคิดเห็นที่ผู้ใช้งานจริงมีต่อรถยนต์ไฟฟ้าของเรา และผมหวังว่าโครงการนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อเมืองพัทยา พี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยต่อไป”
นายสนธยา คุณปลื้ม กล่าวว่า “ผม และผู้บริหารเมืองพัทยา ได้นำโยบาย Neo Pattaya ที่ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมือง มุ่งเน้นการออกแบบผังเมืองที่ดี โดยหนึ่งในองค์ประกอบของแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ คือ การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ด้านการขนส่งอัจฉริยะ และ ด้านพลังงานอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดความสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้พลังงาน ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถยกระดับและช่วยพัฒนาภาคการคมนาคม และการท่องเที่ยวในเมืองพัทยา ให้เป็นเมืองต้นแบบในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป”
นายชุนซาคุ นากาอิ กล่าวว่า “กลุ่มบริษัทฯ ของเรา มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการนำก๊าซชีวภาพมาใช้งานเพื่อเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ เราจะนำเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพ 3 ชนิดมาถ่ายทอดสู่ประเทศไทย ได้แก่ เทคโลยีก๊าซชีวภาพบริสุทธิ์ เทคโนโลยีการสกัดไฮโดรเจนจากก๊าซมีเทน รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพโดยใช้แหล่งพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นว่า ด้วยประสบการณ์และเทคโนโลยีของเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด“
นอกจากนี้ โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรของโครงการทั้งจากอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงาน อาทิ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง ภาคเอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ในเมืองพัทยา โดยคาดหวังให้เมืองพัทยาเป็นแบบอย่างในด้าน “การเดินทางอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลสำเร็จสู่จังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยต่อไป