e-Beetle เต่าไฟฟ้า ยกเครื่องใหม่ในสไตล์ เต่าไฟฟ้า
e-Beetle เต่าไฟฟ้า คุณคิดยังไงถ้าจับเอา โฟล์คเต่า มายกเครื่อง คบหากับพลังงานไฟฟ้า จากกลิ่นอายความคลาสสิค ผสมผสานความทันสมัยของยานยนต์อนาคต หลายคนที่มีใจอนุรักษ์นิยม ก็คงร้องจนเสียงหลง นี่มัมไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของคลาสสิคคาร์ระดับตำนาน กลายเป็นสิ่งไร้ค่าในวงการรถยนต์ย้อนยุคไปเสียฉิบ…
แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบในเทคโนโลยี ความทันสมัย ความแปลกใหม่ และอาจได้เรื่องของใจที่อยากใช้รถช่วยลดมลพิษทางอากาศ คงจะมองต่างมุม เพราะนี่คือทางเลือกใหม่ กับสิ่งที่เรียกว่า “เทคโนโลยี” ที่ผสานกับความคลาสสิคของยนตรกรรมที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น ได้อย่างน่าสนใจ อาจจะลงตัว หรือไม่ลงตัว ก็คงขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ที่พบเห็น แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเทรนด์ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยม การเซ็ตอัพระบบขึ้นมาใช้กับรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปทั่วไปมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย แต่มันยังไม่ใช่กับ “โฟล์คเต่า”
โฉมเก่าในหัวใจใหม่จาก VW e-Up
อย่างไรก็ตามค่ายรถยนต์ VW ถือว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายล่าสุดที่สร้างมาตรฐานการแปลงต้นกำลังของรถยนต์คลาสสิคจากเครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยตัวที่นำมาเป็นต้นแบบดังที่เราเห็นกันอยู่นี่ก็คือ Beetles รุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นคลาสสิค คาร์ ซึ่งค่าย VW ได้เปิดตัวต้นแบบตัวแรกก่อนงานแสดงยานยนต์นานาชาติ (IAA) ในแฟรงค์เฟิร์ตประเทศเยอรมนีที่ผ่านมาไม่นาน หลังจากปีที่แล้วจากัวร์ประกาศว่าได้นำ E-Type คลาสสิคกลับมามีชีวิตด้วยชุดแปลงไฟฟ้าแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี I-Pace ซึ่ง VW เองก็ได้ประกาศสิ่งที่คล้ายกันสำหรับ Beetles แบบคลาสสิคโดยใช้ระบบไฟฟ้า และการส่งกำลังที่ยกมาจากรถยนต์ไฟฟ้าตัวเล็กของค่าย โฟล์คสวาเก้น ก็คือตัว e-up 2020 รุ่นใหม่ล่าสุดนั่นเอง เรามาทำความรู้จักกับรถ VW e-Up ให้มากกว่าเดิมอีกนิด ในรุ่นเก่าเขาเรียกว่าเป็นตัว Up เวอร์ชั่นไฟฟ้า ที่เผยโฉมออกมาตามรุ่น โดยมีพื้นฐานเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นครั้งแรกในช่วงต้นปี 2014 ซึ่งช่วงนั้น e-Up! มีแบตเตอรี่แพ็คที่มีความจุ (หรือความสามารถในการจ่ายไฟต่อเนื่องใน 1 ชม.) เพียง 18.7 กิโลวัตต์–ชม. ยังผลให้มันทำระยะทางวิ่งได้ราว 150 กม. ตามมาตรฐาน NEDC เดิมเท่านั้น และปัจจุบันมาตรฐาน NEDC ก็ไม่สัมพันธ์กับการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันของยุโรปด้วย (ตัวเลขระยะทางมาก หรือดีกว่าความเป็นจริง)
ส่วน e-Upถือว่าเป็นรุ่นอัพเกรด ที่มาพร้อมกับแบตเตอรี่แพ็คชุดใหม่ที่มีความจุถึง 32.3 กิโลวัตต์–ชม. ระยะทางในการวิ่งต่อชาร์จ 1 ครั้งเพิ่มขึ้นเป็น 260 กม. และตัวเลขนี้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ WLTP ของยุโรปซึ่งเข้มงวดกว่า และใกล้เคียงกับการใช้งานในชีวิตประจำวันของชาวยุโรปมากขึ้นด้วย
ถึงเวลาของ VW e-Beetle เต่าไฟฟ้า
อย่างที่เรากล่าวกันไป รถเก่า กับหัวใจดวงใหม่ สำหรับ VW Beetle ถ้าจะพูดให้ถูก ก็คงต้องเรียกว่าเป็นตัวดัดแปลง แต่มีดีกรีตรงที่ดัดแปลงโดยตรงจากโรงงานผู้ผลิต ซึ่งวิศวกรชาวเยอรมัน ผู้ที่อยู่เบื้องหลังโปรเจ็คนี้บอกว่าสามารถใส่แบตเตอรี่ได้มากถึง 36.8 kWh โดยที่เขาใช้ชื่อรุ่นที่ดัดแปลงนี้ให้เข้ากับระบบไฟฟ้า และสอดคล้องกับชื่อรุ่นเดิมของมันว่า e-Beetle
ระบบแบตเตอรี่ถูกติดตั้งไว้ใต้ส่วนล่างของตัวถังรถ โดยจะประกอบไปด้วยโมดูลมากถึง 14 โมดูลแต่ละโมดูลมีความจุ 2.6 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง รวมโมดูลของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแล้วจะให้พลังงานสูงถึง 36.8 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากขอบเขตของการใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีความแรง และเร่งความเร็วได้ด้วยมอเตอร์ ซึ่งจะมีพละกำลังมากกว่าการทำงานของเครื่องยนต์เดิมที่ใช้น้ำมันจำเป็นต้องมีการปรับตัวถังและแชสซีใหม่ให้เหมาะสม และแน่นอนว่าเมื่อรถแรงขึ้นระบบเบรกก็ย่อมต้องมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งก็ถือเป็นหัวใจหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพ และเปลี่ยนหัวใจครั้งใหม่ของโฟล์คเต่า
การปรับปรุงใหม่ครั้งนี้แม้จะทำให้เต่าคลาสสิคมีน้ำหนักรวมมากขึ้นกว่าเดิมเป็น 1,280 กิโลกรัม แต่ e-Beetle ก็เร่งความเร็วจากจุดหยุดนิ่งถึงความเร็วที่ 50 กม./ชม. ได้ในเวลาเพียง 4.0 วินาทีและอัตราเร่งจาก 0-80 กม./ชม. ในเวลาเพียง 8.0 วินาที โดย e-Beetle สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 150 กม./ชม. และสามารถวิ่งได้ไกลกว่า 200 กม. ซึ่งทีมออกแบบก็บอกว่าเป็นระยะทางที่สะดวกสบายสำหรับการออกไปเที่ยวพักผ่อนในรถคลาสสิคที่มีชีวิตชีวา ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นข้อจำกัดเรื่องระยะทางที่น่าสนใจ เนื่องจากตัวถัง และโครงสร้างของรถไม่ได้ถูกออกแบบมาโดยตรงสำหรับรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ถ้าเทียบกับเจ้าตัว e-Up แล้ว เต่าคลาสสิคตัวนี้ วิ่งได้ไกลน้อยกว่าเพียง 60 กม. ต่อการชาร์จปกติใน 1 ครั้งเท่านั้นเอง (ไม่ใช่ควิกชาร์)
มาถึงปัญหาที่เชื่อว่าหลายคนกำลังหวาดหวั่นกับรถยนต์ไฟฟ้าย้อนยุคคันนี้ โดยในกรณีที่ e-Beetle ไม่มีไฟฟ้าในระหว่างการเดิน หรือเรียกง่ายๆ ว่า ไฟฟ้าหมดนั่นเอง เขาก็จะมีส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ที่ใส่มาให้พร้อมกับการเปลี่ยนระบบ ซึ่งก็จะเป็นสายชาร์จแบบ ควิ๊กชาร์จ ติดรถมาให้จะช่วยให้สามารถชาร์จได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบการชาร์จแบบรวม ตามสถานีชาร์จที่มีบริการทั่วไป ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ e-Beetle สามารถเก็บพลังงานได้เพียงพอสำหรับการเดินทางกว่า 150 กม. หลังจากชาร์จไฟเป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง
แล้ว e-Beetle จะทำให้ เต่าเสียความเป็นตัวตนไปจริงหรือ..?
ประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อาจไม่ได้ถูกโฟกัสไปที่เรื่องของต้นกำลังใหม่ ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว การพูดถึงความคลาสสิค และตัวตนที่แท้จริงของรถ โฟล์คสวาเก้น บีเทิ่ล นั่นถือเป็นเรื่องที่ต้องครุ่นคิด เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะบรรดาแฟนรถเต่า พวกอนุรักษ์นิยม ชื่นชอบความเดิม เครื่องยนต์ เดิม รูปแบบเดิม ซึ่งมีอยู่ทั้งเมืองไทย และต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การออกแบบ e-Beetle นี้ ผู้ผลิต และวิศวกรVW ก่อนที่จะลงมือผลิตส่วนประกอบทั้งหมดสำหรับการยกเครื่องเก่า และใส่มอเตอร์ไฟฟ้าลงไปพวกเขาได้ทำงานร่วมกับฝ่ายที่ชื่อว่า e Classics ที่ตั้งอยู่ในเมือง Renningen ใกล้กับ Stuttgart แถมยังรับฟังความคิดเห็นของหลายคนที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นก็คือ Thomas Schmall สมาชิกคณะผู้บริหารของกลุ่มโฟล์คสวาเก้น คอมเม้นท์แสดงความคิดเห็นในโครงการครั้งนี้คือว่า
“ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนำมารวมกับเสน่ห์ในรถคลาสสิคของเราเข้ากับความคล่องตัวในอนาคต ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่จากกลุ่มโฟล์คสวาเกนอยู่ภายใต้ฝากระโปรง และเราเองก็ทำงานร่วมกับพวกเขาในการขับเคลื่อนยานพาหนะที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในกระบวนการทางอารมณ์ เราถือว่ามอบโซลูชันของการแปลงแบบมืออาชีพให้กับเจ้าของรถด้วยการใช้ชิ้นส่วนการผลิตที่มีคุณภาพสูงสุดนี่แหละถือเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า” ส่วนเรื่องที่ทุกคนอยากรู้ก็คงเป็นรายละเอียดและราคา ซึ่งที่ผ่านมาทางผู้ผลิตเองก็ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดราคาและความพร้อมใช้งานของการแปลงครั้งนี้ แต่วิศวกรกลับพูดถึงการปรับเปลี่ยนแปลงรถยนต์คลาสสิครุ่นอื่นๆ ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นรถโฟล์คตู้ก็เป็นได้ ไว้ติดตามชมกันอีกที