ทดสอบเทคโนโลยีและการออกแบบTNGA ของ TOYOTA C-HR ในสนาม TDEX
เทคโนโลยี และการออกแบบถือเป็นสิ่งสำคัญของรถยนต์ในโลกปัจจุบัน รวมทั้งอนาคต ค่ายรถยนต์โตโยต้าถือเป็นค่ายที่ได้มีการออกแบบ และนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการออกแบบมากที่สุดค่ายหนึ่ง ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความรู้จัก และทดสอบเทคโนโลยีการออกแบบระบบหนึ่งที่ชื่อว่า “TNGA” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีโครงสร้างยานยนต์รูปแบบใหม่ที่ถูกคิดค้น และนำมาใช้กับรถยนต์โตโยต้าในทุกรุ่นนับจากนี้เป็นต้นไป
จากแนวคิดที่ท้าทายการพัฒนายนตรกรรมให้ดียิ่งกว่าของโตโยต้า (Ever-better Cars) โดยโตโยต้ามุ่งเน้นพัฒนาใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ ความประณีตของการออกแบบภายนอก เพื่อดีไซน์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ (Emphasized Personality) และ ความแข็งแกร่งของโครงสร้างภายในที่ทำงานประสานกัน (Core Strength)
โดยสถาปัตยกรรมโครงสร้างยานยนต์ใหม่ TNGA ถูกพัฒนาและออกแบบให้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีความแข็งแรงและมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ ทำให้ตอบสนองต่อการขับขี่ที่ดีเยี่ยม การควบคุมบังคับรถที่แม่นยำ นุ่มนวลทุกสภาพถนน รวมถึงทัศนวิสัยการขับขี่ที่ดีกว่า ตลอดจนรูปลักษณ์ที่สวยงาม ซึ่งโตโยต้าได้นำสถาปัตยกรรมโครงสร้างใหม่นี้มาใช้ใน Toyota C-HR เป็นรุ่นแรก และจะนำมาใช้กับรถยนต์โตโยต้ารุ่นต่อๆไปในอนาคต โดยการออกแบบโครงสร้างใหม่มีจุดเด่นในหลายๆ ส่วนก็คือ
Body rigidity – เพิ่มความมั่นคงของรถจากโครงสร้างเหล็กที่แข็งแกร่ง พร้อมเพิ่มจำนวนจุดเชื่อมตัวถัง (Spot welding)ช่วยรองรับแรงบิดที่มีต่อตัวถัง เพิ่มประสิทธิภาพในการทรงตัวและเกาะถนนมากยิ่งขึ้น
Low center of gravity – จุดศูนย์ถ่วงต่ำลง ลดการโคลงตัวของรถ ช่วยเรื่องการทรงตัวและการเข้าโค้งดีขึ้น
Double Wishbone Suspension ช่วงล่างด้านหลังแบบอิสระปีกนกคู่ เพิ่มความนุ่มนวลในการขับขี่ แต่ยังคงไว้ซึ่งการเกาะถนนที่ดีเยี่ยม
Good Handling พวงมาลัยมีการปรับอัตราทดและ ECU ใหม่ ทำให้การตอบสนอง แม่นยำมากขึ้น เพื่อให้การควบคุมรถง่ายเป็นไปอย่างมั่นใจ
STABILITY – จากโครงสร้างตัวถังที่มีความแข็งแรง ทำให้การควบคุมจากพวงมาลัยมีความแม่นยำ เกาะถนนได้ดีเยี่ยม เข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ นอกจากนี้ด้วยช่วงล่างอิสระแบบ Double wishbone ยังช่วยเพิ่มความนุ่มนวลในการขับขี่
AGILITY – ความคล่องตัวในทุกจังหวะการขับขี่ และการควบคุมได้ดั่งใจ เกิดจากการที่ตัวรถถูกออกแบบให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ส่งผลให้การขับขี่ ที่สนุกมากขึ้น และสามารถขับลัดเลาะไปตามซอกซอยได้อย่างคล่องตัว
VISIBILITY – จากการออกแบบให้ผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลางของรถ พร้อมเพิ่มทัศนวิสัย และการลดจุดอับสายตาภายในห้องโดยสาร ด้วยการปรับกระจกด้านหน้าคนขับให้กว้างขึ้น และลดขนาดเสา เอ (A Pillar) ทั้ง 2 ด้านให้แคบลง ส่งผลให้ผู้ขับขี่สามารถมองวัตถุในมุมอับได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
COMFORT – โครงสร้างรูปแบบใหม่ และช่วงล่างที่อิสระ สามารถลดแรงกระแทกจากพื้นถนนสู่ผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความความนุ่มนวลทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ไม่เมื่อยล้าในการขับขี่ เพลิดเพลินในทุกการเดินทาง
สถาปัตยกรรมโครงสร้างยานยนต์ใหม่ (TNGA) จะเป็นการยกระดับของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโตโยต้าเพื่อสร้างความสมบูรณ์แบบทุกการเคลื่อนไหว ผสานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้แก่ ระบบไฮบริดเจนเนอเรชั่นที่ 4 (4th Generation Hybrid) มาตรฐานความปลอดภัยใหม่ระดับโลกของรถโตโยต้า (Toyota Safety Sense หรือ TSS) และ ระบบที่เชื่อมต่อรถและผู้ใช้รถให้เป็นหนึ่งเดียว (Toyota T-Connect Telematics)
TOYOTA C-HR ทดสอบ TNGA จริงจากสนาม Toyota Driving Experience Park (TDEX)
เพื่อเป็นการพิสูจน์ การออกแบบโครงสร้างยนต์ยนต์รูปแบบใหม่หรือว่า “TNGA” ซึ่งเรามีโอกาสได้ทดสอบ ในสถานนีทดสอบที่เน้นในเรื่องของ Performance ทั้งเครื่องยนต์ และช่วงล่างของรถ TOYOTA C-HR ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยทดสอบไปแล้วในรูปแบบของการขับใช้งานทั่วไป โดยครั้งนี้ได้ลองกันในสนาม Toyota Driving Experience Park (TDEX)
จุดทดสอบที่ 1 ก็คือการทดสอบประสิทธิภาพการเลี้ยวในที่แคบ (วงเลี้ยวแคบสุดที่ 5.2 เมตร) และทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ (Visibility) ในจุดอับสายตา บริเวณมุมด้านหน้าฝากระโปรงและกระจกมองข้าง กับเสาเอ (A Pillar) ทำให้สามารถเห็นอุปสรรคด้านหน้า และด้านข้างได้อย่างชัดเจน
จุดทดสอบที่ 2 การทดสอบความคล่องตัว (Agility) ซึ่งโดยปรกติช่วงล่าง และการยึดเกาะถนนของ TOYOTA C-HR ก็ถือว่าโดดเด่นอยู่แล้ว การขับแบบสลาลม (Slalom) และการหักหลบฉุกเฉิน ในจุดทดสอบนี้ ก็ถือว่ามีการตอบสนองของพวงมาลัย ร่วมกับโครงสร้างตัวถังที่แข็งแรง ผสานกับช่วงล่างอิสระแบบ Double wishbone ช่วยให้เข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ เกาะถนน และทรงตัวได้อย่างดีเยี่ยม
จุดทดสอบที่ 3 การทดสอบความมั่นคง (Stability) ด้วยการขับในรูปแบบโค้งกว้าง ด้วยจุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity) ที่ต่ำลง ซึ่งมาจากการออกแบบชิ้นส่วนให้ต่ำลง เช่น เครื่องยนต์ และเกียร์ ส่งผลให้ตัวรถนิ่ง มีเสถียรภาพ ไม่เหวี่ยง หรือโคลง แม้เข้าโค้งในความเร็วสูง ทำให้ผู้ขับขี่มีความมั่นใจอย่างเต็มที่
จุดทดสอบที่ 4 การทดสอบความนุ่มนวลในการขับขี่ (Comfort) ผ่านการจำลองสถานการณ์ในการขับขี่ เช่น คอสะพานที่มีความชัน ผิวทางขรุขระ และลูกระนาด ด้วยการออกแบบช่วงล่างอิสระแบบ Double wishbone จึงทำเพิ่มความนุ่มนวลและดูดซับแรงกระแทกจากพื้นถนนกับผู้ขับขี่ได้อย่างดี
เทคโนโลยี TNGA ถือเป็นการออกแบบที่ปฏิวัติ การขับขี่ที่มีประสิทธิภาพของค่ายโตโยต้ามากยิ่งขึ้น และแน่นอนครับว่าในอนาคต เราจะเห็นเทคโนโลยีโครงสร้างรถยนต์นี้ในอีกทุกๆ รุ่นที่โตโยต้าจะนำเสนอ ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเป็นรุ่นไหนที่จะทำให้เราสนุกสนานในการขับขี่เหมือนกับ TOYOTA C-HR นี้ได้