ระบบระบายความร้อน

ระบบระบายความร้อน หน้าร้อนแล้วต้องดูแลเป็นพิเศษ ตอน 1

เตรียมเข้าสู่หน้าร้อนกันอย่างเต็มระบบ แม้จะมีฝนโปรยลงมาเล็กน้อย ให้อุณหภูมิลดต่ำลง แต่แสงแดดที่แผดเผาแรงกว่าหน้าอื่นๆ นั้นก็ทำเอาเราต้องจอดรถข้างทางได้เหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงรถติดเข็มความร้อนบนหน้าปัดขึ้นจนถึงเกือบขีดสุด สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่ารถใกล้จะถึงจุด “โอเวอร์ฮีท” ควรต้องจอดรถข้างทาง ถ้าจะให้ดีแวะปั๊มพักเครื่องตรวจเช็คความผิดปรกติได้ก็คงจะดี แต่โชคไม่ได้เข้าข้างเราเสมอไป ส่วนใหญ่ลากกันจนถึงขั้นเครื่องยนต์ “น็อค” และกลายเป็นปัญหาใหญ่ให้ต้องแก้ไขกันซะทุกที งานนี้คงต้องไปดูกันที่ การระบายความร้อน กันแล้ว

ระบบระบายความร้อน ในรถยนต์ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ เราเองควรจะรู้จักการทำงานของมันเอาไว้บ้าง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้ความเสียหายรุนแรงเมื่อรถตัวร้อนจัดๆ หรือวิธีที่ช่วยให้ระบบระบายความร้อนในรถยนต์นั้นสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องเหล่านั้นเรามาทำความรู้จักกับ ระบบระบายความร้อนของรถยนต์กันซักเล็กน้อย

ระบบระบายความร้อนในรถยนต์ หรือว่ามอเตอร์ไซค์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเราก็จะเห็นกันอยู่ 2 ลักษณะคือ ระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ และระบบระบายความร้อยด้วยน้ำ หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ในรถยนต์นั้นใช้การระบายความร้อยด้วยอากาศด้วยเรอะ เพราะส่วนใหญ่ก็จะเห็นกันเฉพาะในมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งร่อนไปร่อนมาเท่านั้น ในรถยนต์สมัยก่อนใช้ระบบระบายความร้อนด้วยอากาศกันอย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่างที่เห็นชัดและใกล่ตัวมากที่สุดก็คือรถยนต์จากค่ายนาซี โฟล์คสวาเก้น ไม่ว่าจะเป็นตู้หน้าวี หัวแตงโม รวมไปถึงโฟล์คเต่าเครื่องยนต์วางหลัง หรือเครื่องยนต์ตัวแรงของปอร์เช่บางรุ่นก็ใช้ระบบระบายความร้อนด้วยอากาศทั้งนั้นแต่ก็จะเห็นว่ารถยนต์ที่ใช้ส่วนใหญ่จะมาจากฝั่งยุโรปที่ไม่ค่อยประสบปัญหาเรื่องของความร้อนเท่าไรนัก แต่การดีไซน์ของเขาก็ช่วยให้การระบายความร้อนแบบนี้มีประสิทธิภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผนังลูกสูบที่ไม่หนา เนื่องจากไม่ต้องออกแบบเผื่อช่องทางเดินน้ำ การบำรุงรักษาง่าย ไม่ต้องกลัวเรื่องสนิม ฯลฯ

แต่ข้อเสียก็มีไม่น้อย นอกจากเรื่องหลักก็คือประสิทธิภาพในการระบายความร้อนจะสู้การระบายด้วยน้ำไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่รถติด ก็ไม่สามารถที่จะดักอากาศมาช่วยระบายได้ นอกจากนี้การออกแบบเครื่องยนต์ส่วนใหญ่ก็ยังต้องเผื่อระยะการขยายตัวของชิ้นส่วนต่างๆ ในขณะที่เครื่องยนต์ร้อนนั่นก็หมายความว่าตอนที่เครื่องยนต์ยังไม่ร้อนก็จะมีการกระทบกระทั่งของชิ้นส่วนต่างๆ จนเกิดเสียงดังซึ่งก็ถือเป็นเอกลักษณ์ของรถที่ใช้ระบบระบายความร้อนด้วยอากาศนั่นเอง

ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ อย่างที่บอกครับว่าระบบนี้จะนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากกว่า แน่นอนครับระบบนี้ก็ต้องมีการออกแบบ และใช้อุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาช่วยมากมาย ที่เห็นและสำคัญอย่างยิ่งก็คือ “หม้อน้ำ” ซึ่งมีลักษณะเป็นรังผึ้งมี “พัดลม” ช่วยเป่าระบายความร้อนในขณะที่น้ำไหลเข้ามายังรังผึ้ง และกลับเข้าไปหล่อเย็นในช่องทางเดินของน้ำหล่อเย็นบริเวณผนังฝาสูบ รถยนต์แต่ก่อนนั้นยังไม่มีปั๊มน้ำเข้ามาช่วยให้น้ำหมุนวน เพียงแต่ต่อท่อจากเครื่องยนต์ และนำน้ำเข้ามายังหม้อน้ำเท่านั้นเองประสิทธิภาพการระบายความร้อนจึงไม่ค่อยดีนัก

อุปกรณ์นอกจากนี้ก็จะมี วาล์วน้ำ ที่เปิด-ปิดด้วยความร้อน เมื่อถึงอุณหภูมิทำงานของเครื่องยนต์วาล์วน้ำจะเปิดให้มีการหมุนวนของน้ำมาผ่านหม้อน้ำเพื่อลดอุณหภูมิ จะเห็นว่าสมัยก่อนหรือปัจจุบันหลายท่านก็ยังปฏิบัติอยู่ก็คือช่วงเช้าก่อนที่จะมีการเดินทางก็ต้องมีการ “อุ่นเครื่อง” กันก่อนเพื่อเตรียมความพร้อมของเครื่องยนต์ การอุ่นเครื่องก็คือให้น้ำในหม้อน้ำถึงอุณหภูมิทำงานวาล์วน้ำเปิด การกดคันเร่งใช้รอบสูงๆ ก็จะไม่สะดุด และลดการสึกหรอได้ดีกว่าการสตาร์ทเครื่องแล้วออกรถใช้ความเร็วสูงเลย

หม้อพักน้ำ ก็ถือว่ามีความสำคัญไม่ใช่น้อย อุปกรณ์ต่อพ่วงจากหม้อน้ำหลักชนิดนี้ถือเป็นตัวช่วยที่ขาดไม่ได้ รถยนต์ปัจจุบันที่ใช้ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำต้องไม่ละเลย แต่เดิมรถยุคแรกๆ ไม่มีหม้อพักน้ำ มีเพียงท่อระบายน้ำทิ้งเท่านั้น ในช่วงที่น้ำในหม้อน้ำร้อนมีแรงดันสูงก็จะระบายน้ำออกมาทิ้งด้านนอก แล้วยังไงล่ะครับตอนเติมไปมันก็เต็มหม้อดีอยู่แต่ตอนเลิกใช้รถต้องมีปัญหาน้ำหม้อน้ำขาดทำให้ต้องเติมกันอยู่บ่อยๆ เขาก็เลยมีการออกแบบหม้อพักน้ำขึ้นมาเพื่อเก็บน้ำที่มีแรงดันสูงเกิดการขยายตัวแทนที่จะไหลทิ้งไปเปล่าๆ ก็เก็บเอาไว้ใช้ใหม่ได้โดยเก็บเอาไว้ หลังจากที่หม้อน้ำเย็นลงก็จะเกิดแรงดูดดูดเอาน้ำในหม้อพักไปไว้ในหม้อให้เต็มเหมือนเดิมนี่แหละครับหลักการง่ายๆ ของหม้อพักน้ำ

ทำความรู้จักกันคร่าวๆ เท่านี้ก่อนครับ เอาไว้ตอนหน้า เราจะมาพูดถึง ปัญหา และการแก้ไขที่เราสามารถลงมือตรวจเช็คซ่อมแซมเองได้ กับปัญหาเรื่องของความร้อน ที่ควรรู้เอาไว้เผื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับรถของเรา ระบบระบายความร้อนตอน 2